Trending News

Subscribe Now

‘เพราะการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยาก’ คุยกับนีท เบญจรัตน์ นักจิตวิทยาเด็กถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวกับ Learning From Home

‘เพราะการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยาก’ คุยกับนีท เบญจรัตน์ นักจิตวิทยาเด็กถึงสิ่งที่พ่อแม่ต้องเตรียมตัวกับ Learning From Home

Article | Creative/Design

“การเรียนออนไลน์ปกติแล้วเป็นเรื่องยาก ลองนึกภาพเวลาเรียนในห้องเด็กคือผู้รับสาร ส่วนคุณครูเป็นทั้งผู้สื่อสารและคอยดึงสติเด็กให้กลับมาสนใจกับการสอนตรงหน้า” นีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตอบเราอย่างฉะฉานด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสแต่ทว่าก็เคลือบแคลงไปด้วยความกังวลใจต่อสถานการณ์ที่เด็กต้องปรับรูปแบบการเรียนมาเป็น Learning From Home ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ 

จากประกาศล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการที่มีมติให้เลื่อนเปิดเทอมจากเดิมเดือนพฤษภาคมขยับเป็นเดือนกรกฏาคมแทน โดยแบ่งระยะเวลาของภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 กรกฏาคม ถึง 30 พฤศจิกายนและเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 ธันวาคมถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นในเร็ววัน (ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา) 

การศึกษาของไทย ณ ตอนนี้ ทุกระดับชั้นต้องปรับรูปแบบการเรียน การสอนผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งการเรียน สั่งการบ้านหรือกระทั่งการสอบเองก็ตาม แต่ในระดับชั้นอย่างอนุบาลและประถมเอง การเรียนผ่านออนไลน์กลับสร้างความน่ากังวลใจให้กับพ่อแม่หลายๆ คน เพราะช่วงวัยอย่างอนุบาลหรือที่เรียกกันว่าปฐมวัย คือ ช่วงวัยแห่งการวางรากฐานชีวิต การเข้าสู่สังคมโรงเรียนหรือโลกอีกใบที่นอกเหนือจากครอบครัว ฉะนั้นแล้วการเรียนและพัฒนาของเด็กช่วงวัยนี้ จึงต้องการทั้งเพื่อน คุณครูและการเรียนการสอนที่ผ่านการเล่น
(Play-Based Learning) 


ร่างกาย ภาษา สมอง และสังคม คือ 4 ด้านของการพัฒนาช่วงปฐมวัย 

“หากพูดถึงปฐมวัย คือ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงห้าขวบเลย” ก่อนจะเข้าสู่เรื่องนีทเกริ่นกับเราว่าอยากเล่าถึง 4 ด้านของการพัฒนาช่วงปฐมวัยก่อน เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันก่อน โดย 4 ด้านของการพัฒนาช่วงปฐมวัย ประกอบไปด้วย 1.ด้านร่างกาย 2.ด้านภาษา 3.ด้านสติปัญญาหรือสมองและด้านสุดท้าย ด้านสังคม การเรียนรู้ทั้งสี่ด้านนี้เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่พร้อมใช้ชีวิตได้ 

“ด้านร่างกายเด็กแรกเกิดร่างกายเขาจะมีฟังก์ชั่นแค่นอนได้แต่หลังจากเขาเริ่มเติบโต ร่างกายส่วนกล้ามเนื้อเริ่มแข็งแรงขึ้น เด็กจะเริ่มอยากเคลื่อนไหว พอสักห้าหกเดือนเด็กเริ่มดันตัวขึ้นมา ไม่อยากนอนอย่างเดียวแล้วอยากจะเล่น แต่เขาก็ยังเดินและชันตัวพยายามนั่ง แล้วพอนั่งได้ปุ๊ปเนี่ยหกเดือนเป็นต้นไปเขาก็จะชอบการเล่น

ด้านที่สองการพัฒนาการภาษา ฟังดูอาจจะยากแต่จริงๆ คือเด็กพูดรู้เรื่องกับฟังเข้าใจอันนี้คือคำว่าภาษาแรกเริ่มเด็กยังพูดไม่ได้ เขาจะเรียนรู้คำจากพ่อแม่ก่อนอย่างเวลาเราเรียกหลาน ต้องพูดไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาจำได้นะสักพักหนึ่งเราจะเริ่มเห็นว่าเวลาเรียกเขาแล้วหัน

ด้านที่สามสมอง บางคนอาจสงสัยว่าสมองสำคัญกับลูกตั้งแต่แรกเกิดเลยหรอ นีทต้องบอกว่าสมองคืออวัยวะที่ทำงานตั้งแต่แรกเริ่มเลย สมองทำหน้าที่ในการจำ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เด็กเหมือนคอมพิวเตอร์ที่เรายังไม่ได้ลงโปรแกรม แต่หน้าที่ของพ่อแม่ในการพัฒนาสมองคือลงโปรแกรมให้เริ่มรู้จักกับสิ่งนู้นสิ่งนี้ เช่น อ๋า..วันนี้เรามาหม่ำๆ กันนะลูก แล้วก็ป้อน นี้คือการเรียนรู้ผ่านสมอง เด็กอาจจะพูดหม่ำเริ่มไปกิน เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมอง จากนั้นพอเด็กเริ่มเล่นได้เยอะขึ้นสมองจะถูกใช้งานมากขึ้น 

และด้านสุดท้ายคือสังคม สังคมของเด็กคือความสัมพันธ์ อย่างสังคมแรกที่เด็กเกิดมาเลยคือครอบครัว ช่วงนั้นเขายังไม่ได้เจอใคร พอเขาเริ่มเข้าโรงเรียน ความสัมพันธ์ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เด็กต้องเจอเพื่อนและคุณครู พอเขาเจอคนเหล่านี้จึงมีเรื่องของการเป็นกลุ่มกฎระเบียบต่างๆ ตามมา” 


ก่อ ร่าง สร้างความสัมพันธ์จากการใช้ชีวิตประจำวัน 

“จริงๆ นีทว่าการมีปฎิสัมพันธ์สำคัญมากที่สุดเลย พอมีการปฎิสัมพันธ์มันก็จะเสริมทุกอย่างให้กับเด็กอย่างนี้ค่ะเหมือนกับเป็นตัวแปรของการเรียนรู้ก็ว่าได้เลยค่ะ ความสัมพันธ์ของเด็กเนี่ยเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน”

นีทเล่าว่าวัย 0-2 ขวบเป็นวัยที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก มีเพียงเรื่องสถานที่เล่นน้อยลง อย่างปรกติบางครอบครัวมักไปเล่นที่สวนในหมู่บ้านหรือสวนสาธารณะเป็นประจำ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่สามารถออกไปได้ แต่อีกวัย 3-5 ขวบเป็นวัยที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ เพราะชีวิตของเด็กวัยนี้มีสองบทบาทด้วยกันนั่นคือบทบาทลูกเมื่ออยู่ที่บ้านและบทบาทนักเรียน พอประสบกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้บทบาทนักเรียนก็หายไปเลย โลกที่เขาจะได้ไปเล่นกับเพื่อน ไปเรียนรู้กับครู นอกจากเด็กอนุบาลแล้วเด็กประถมก็คือเป็นโดมิโน่เลย เพราะจริงๆ ไม่ได้มีแค่เรื่องการเรียนรู้ แต่เป็นเรื่องของการปรับตัวด้วย

“เด็กต้องปรับตัวยากขึ้น ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือระยะเวลาเปิด-ปิดเทอมจะหยุดยาวในช่วงนี้แล้วไปเปิดอีกทีช่วงกรกฏาคม แล้วการหยุดหรือการปิดเทอมจากที่เขามีเวลาจากเทอมหนึ่งไปเทอมสองมีเวลาเกือบเดือนมันลดน้อยลง ฉะนั้นไม่ใช่แค่การเรียนรู้แต่คือการปรับตัวของเด็กที่ชีวิตกำลังจะเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งเด็กและพ่อแม่เอง ช่วงวันหยุดตรงนี้เด็กไปเที่ยวไหนไม่ได้เลย เขาได้อยู่แต่ในบ้าน แน่นอนว่าเด็กคงไม่มีความสุขกับการหยุดยาว”

เมื่อพ่อแม่ต้องสวมบทบาทของครูในการ Learning From Home 

จากที่บทสนทนาแรกของบทความที่นีทเล่าว่า ในห้องเรียนครูเป็นทั้งผู้ส่งสารและคอยดึงสติให้เด็กยังสนใจกับการเรียนตรงหน้า แต่เมื่อต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์แล้ว เด็กจึงมีสมาธิน้อยลง ครูสอนอยู่ในจอไม่มีคนคอยดึงสติกลับมา นีทเสริมว่า ที่การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องยากยังมีเรื่องของสภาพแวดล้อม เพราะเด็กมีการเรียนรู้ว่า โรงเรียนคือสถานที่สำหรับเรียน และเมื่อเด็กอยู่บ้านคือสถานที่ได้พักผ่อนและเล่นกิจกรรมต่างๆ สิ่งนี้เป็นเงื่อนไขแพทเทิร์นการใช้ชีวิตของเด็กเอง 

“อย่างเวลาเด็กไปเรียน เขาจะเข้าใจว่าวันจันทร์-วันศุกร์ต้องตื่นไปโรงเรียนแต่เช้า เข้าแถวเคารพธงชาติ 8 โมงตรง หลังจากนั้นเริ่มเข้าเรียน เวลาได้ยินเสียงออดคือหมดเวลาแต่ละคาบเรียน แต่อยู่บ้านเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดพ่อแม่แทบทุกคนก็ไม่ได้วางกฎแบบนี้กับเด็ก” 

แต่ถ้าถามวิธีการแก้สำหรับเด็กประถมที่คงต้องเรียนออนไลน์ นีทแนะว่า พ่อแม่ต้องเป็นผู้รับบทบาทเพิ่มขึ้น โดยนั่งเรียนกับลูก นั่งกำกับลูก อย่างเช่น พ่อแม่ที่ต้อง Work For Home ให้จัดโต๊ะทำงานกับโต๊ะเรียนของลูกเป็นโต๊ะหรือพื้นที่เดียวกัน เวลาลูกเรียน พ่อแม่ทำงาน พอเริ่มว่าเห็นลูกหยุกหยิกก็ต้องเตือนลูก ดึงสติกลับมาสนใจการเรียนตรงหน้าต่อ ส่วนเด็กอนุบาลพ่อแม่ต้องนั่งเรียนไปด้วยกันเพราะโดยส่วนมากครูทำให้คือทำให้พ่อแม่มีส่วนร่วม 

“บ้านไม่ใช่สถานที่สำหรับเรียน พ่อแม่ต้องช่วยให้เขาพร้อมกับการเรียนโดยสร้างบรรยากาศ ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันอย่างเช่น นอนให้เป็นเวลา ไม่ใช่ว่าอยู่บ้านแล้วอยากนอนเวลาไหนก็ได้ พ่อแม่ต้องสร้างการตระหนักรู้ต่อเด็กว่า คุณยังมีบทบาทการเป็นนักเรียนอยู่” 

ออกแบบวิธีการเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของลูก 

เพราะการเรียนของช่วงปฐมวัยเป็นรูปแบบการเรียนผ่านการเล่น พ่อแม่จึงต้องเตรียมตัวและแบ่งบทบาทกันให้พร้อม แต่ถึงอย่างนั้นนีทก็บอกว่าไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่พร้อมจะเล่นกับลูกตลอดเวลา นีทสรุปออกมา 3 ข้อที่พ่อแม่ควรเตรียมตัวกับลูกดังนี้ 

1.มุมที่พ่อแม่มีข้อจำกัด เราต้องเบรกลูกโดยการสร้างบทบาทขึ้นมา บทบาทแรก ถ้าที่บ้านมีพี่เลี้ยงหรือปู่ยาตายายที่คอยเล่นกับลูกเราได้ก็จะแบ่งเบาความกังวลใจตรงนี้ไปได้ค่ะ แต่เราก็ยังต้องออกแบบวิธีการเล่นกับลูกว่าจะมีกิจกรรมอะไรที่เสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ หลายคนมักถามนีทว่าควรทำอย่างไร ถ้าพ่อแม่ไม่มีคนช่วย กรณีที่มีลูกสองคนขึ้นไป พ่อแม่สามารถแบ่งเวลาได้ว่าตอนเช้าคือพี่กับน้องเล่นด้วยกัน ระหว่างนั้นเราก็ทำงาน เคลียร์งานให้เรียบร้อย พอตอนบ่ายแม่อาจจะสลับกับพ่อมาเล่นกับลูก แต่ถ้าเป็นลูกคนเดียวเลย พ่อแม่ต้องแบ่งหน้าที่สลับกันตรงนี้ ซึ่งนีทก็มองว่าสิ่งนี้เป็นข้อดีของการ Work From Home เช่นกัน 

2.พ่อแม่ต้องจัดตารางการเล่น โดยแบ่งเป็นช่วงเช้า บ่าย เย็นและก่อนนอน ร่างเป็นไอเดียกว้างๆ คือ ตอนเช้าเล่น กิจกรรมเป็นเล่นของเล่น ตอนบ่ายอาจจะเป็นกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ เช่น วาดรูป ร้องเพลง หรือช่วยกันทำอาหาร แล้วตอนกลางคืนอาจเป็นแบบเล่านิทานกับลูก 

สำหรับพ่อแม่บางคนที่ไม่ค่อยได้เล่นกับลูก นีทแนะนำว่าอันดับแรกเริ่มต้นดีชนะทุกสิ่ง เช่น เราบอกลูกว่าวันนี้เรามาทำหมวกกันประดิษฐ์จากกระดาษแล้วเราเริ่มต้นแค่นี้ แน่นอนว่าลูกอาจจะมองว่าน่าเบื่อจังเลยแม่ กลับกันหากเราลองเริ่มต้นว่า วันนี้เราจะมาทำหมวกวิเศษหรือหมวกมายากลแล้วมีนกอยู่ข้างในนะ ด้วยคำพูดที่แต่งเติมจินตนาการ พ่อแม่สื่อสารออกไปเด็กก็จะเริ่มรู้สึกว่ากิจกรรมน่าตื่นเต้น   

และข้อสุดท้าย 3. การสร้างบทบาทสมมุติเพื่อปลุกความคิดการสร้างสรรค์ให้กับลูก เช่น จากปรกติที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกต่อเลโก้ออกมาเป็นรูปร่าง ตึกต่างๆ เมื่อต่อเสร็จก็ไปก็ทำอย่างอื่นต่อ กลับกันหากพ่อแม่พลิกแผลงสวมบทบาทสมมติว่า ลูกเป็นซุปเปอร์ฮีโร่หรือบทบาทที่อยากจะเป็น ส่วนพ่อแม่เป็นสัตว์ประหลาดมาทำลายตึกเลโก้ จุดมุ่งหมายในการเล่นเลโก้ของลูกจึงมากกว่าการต่อเป็นรูปร่าง แต่เมื่อต่อเสร็จแล้วเลโก้ยังต้องมีเรื่องราว บทบาทสมมติเข้ามาสอดประสานเติมเต็มการเล่นให้สมบรูณ์  

นีททิ้งท้ายไว้ว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้เราต้องปรับตัวกับทุกบริบทในชีวิต โดยเฉพาะบทบาทของพ่อแม่ที่มีโจทย์ที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้เราไม่ควรยอมจำนนต่อสถานการณ์หรือถอดใจ แต่อีกหนึ่งบทบาทของพ่อแม่ตอนนี้คือเราจะเป็นนักเล่นที่ดีกับลูกได้อย่างไร ? 

_______________________________________

Learning From Home ซีรีส์คอนเทนต์ว่าด้วยเรื่องการศึกษาไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในแง่มุมผลกระทบของแต่ละช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยกระทั่งอุดมศึกษา รวมถึงการเตรียมรับมือตลอดจนการแก้ไขในช่วงวิกฤตินี้ 

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

Related Articles

สปอนเซอร์ กับ E-sport

ช่วงเปิดฤดูกาลใหม่สำหรับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก วันนี้ CT อยากจะชวนมาดูเทรนด์สปอนเซอร์บนเสื้อฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกัน..   สปอนเซอร์บนเสื้อ สำหรับคนที่ดูบอล โลโก้สปอนเซอร์คือสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลา ปฎิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลต่อจิตใจสาวกของทีมอย่างเรา ๆ แน่นอน   นั่งอ่านข่าวจาก…

Article | Digital marketing

กระเทาะจิตวิทยามนุษย์ผ่านพฤติกรรมในสถานการณ์ ไวรัสโคโรน่า

ภาพการแย่งซื้อกระดาษชำระ ที่ญี่ปุ่นหรือประเทศฝั่งตะวันตก ตอนนี้คงแปลกตาสำหรับคนไทยแต่เมื่อหันกลับมามองบ้านเราเองแล้ว ผมว่าก็มีความไม่ต่างกัน แต่เป็นสินค้าจำพวกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ที่ขาดแคลน และเมื่อสัปดาห์ก่อนนี้ หากเราไปตามห้าง หลายคนก็จะเริ่มเห็นการกักตุนอาหาร พฤติกรรมเหล่านี้ คือกระบวนการตอบสนองของมนุษย์ต่อสถานการณ์แพร่กระจายของไวรัสโคโรน่า…

Article | Creative/Design
felis diam leo venenatis elit. efficitur. vel, in mi,