ในการทำงานเราต้องคุยกับคน 3 กลุ่ม คือเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศคือคนที่ช่วยกันทำงานจนสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนรวมงาน น้องในทีมหรือเจ้านาย กลุ่มที่สองคือลูกค้า คนที่เราต้องแก้ปัญหาด้วย Product หรือ Service แล้วเราจะได้รับเงินค่าจ้างเป็นการตอบแทน กลุ่มสุดท้ายคือ Partner คือคนที่มีความสามารถบางอย่างที่ทีมงานของเราไม่มี แต่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้สำเร็จ
การทำงานกับ Partner มีความท้าทายหลายอย่าง
ทั้งเรื่องการสื่อสารที่เราไม่ได้อยู่ในออฟฟิศเดียวกันเหมือนทีมงานในบริษัท
เรื่องความสามารถของ Partner ที่อาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
เราจะมีวิธีการสื่อสารอย่างไร เพื่อให้การทำงานสำเร็จได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะเพื่อนร่วมอาชีพ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพไปด้วยกัน
1. รู้จุดแข็งของ Partner ตอบตัวเองให้ได้ว่าทำไมต้องเป็นบริษัทนี้ หรือคนนี้เท่านั้น
บางครั้งค่าบริการหรือเวลาอาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญ แต่เงื่อนไขที่สำคัญมากกว่าคือความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละ Partner นั้น match กับงานที่เรามอบหมายให้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์และทันเวลาที่ต้องใช้งาน เมื่อ Partner ได้ทำงานที่ถนัดมีทักษะเป็นทุนเดิม โจทย์ที่ต่างไปจะเป็น Challenge ที่จะมาเพิ่มความชำนาญให้ Partner มากขึ้น ไม่ถึงกับต้องเริ่มใหม่ … จำไว้ว่าถ้า Partner ต้องเริ่มใหม่ ก็ไม่ต่างอะไรกับเราทำเอง
2. รู้จุดอ่อนของ Partner แล้วตอบตัวเองให้ได้เช่นกันว่ารับข้อนี้ได้ไหม
ให้ถือเป็น Worst-Case Scenario หรือสถานกาณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับโปรเจ็คนี้ที่เราจะสามารถรับมือได้ เช่น เรามี partner ที่เชียงใหม่ หากงานมีปัญหาถึงขั้นตามงานไม่ได้ หรือต้องทดสอบงานร่วมกัน เราสามารถเดินทางไปหากันได้ไหมในเวลาที่จะยังทำให้งานนั้นดำเนินได้อยู่ หากเราประเมินแล้วว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นนั้นมีแนวทางการรับมือร่วมกันได้แล้ว ก็ประเมินได้เลยว่าในสถานการณ์ปกติงานนี้จะทำเสร็จแน่นอน
3. ให้พื้นที่โชว์ฝีมือ บอกความต้องการของเรา (requirement) แต่อย่าบอกกระบวนการหรือขั้นตอน (solution / direction)
เมื่อเรามอบพื้นที่ให้ จะทำให้ Partner ได้ทำสิ่งที่เค้าถนัด ทำสิ่งที่ทำให้คุณต้องจ้างเค้าเพราะคุณทำเองไม่ได้ สิ่งที่ทำให้คุณต้องให้เครดิตเค้าเมื่อจบงาน ตั้งใจฟังกระบวนการ และหากมีคำถามในกระบวนการทำงานให้ถามเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่ถามเพื่อจะลงมือทำเองหรือไปปรับกระบวนการ อย่าลืมว่าเราไม่เก่งเรื่องนี้ เราจึงต้องให้ Partner มาทำงานส่วนนี้
4. เนื้องาน และเรื่องเงินต้องชัดเจน
ข้อนี้เป็นพื้นฐานที่ไม่ควรละเลย เป็นการซื้อใจเมื่อคุณให้ใจด้วยการไม่ผิดนัดค่าบริการ ซึ่งหากเป็น Supporter ผลตอบแทนไม่ใช่เงินก็ต้องให้ชัดเจนเช่นกัน ว่าการตอบแทนนั้นคืออะไรบ้าง พึงพอใจกันทั้ง 2 ฝ่ายใช่หรือไม่เช่นขึ้น Credit ขอบคุณ หรือให้ข้อมูลใดประกอบ ข้อสำคัญของผลตอบแทนนี้คือต้องคุยกันให้จบก่อนเริ่มงาน หากไม่ชัดเจนและรู้สึกว่าไม่พอใจต้องคุยจนกว่าจะได้ Deal ที่พอใจแล้วค่อยลงมือเริ่มงาน
5. บอกให้รู้ว่างานนี้ทำให้อะไรเปลี่ยนไปทั้งกับลูกค้าและตัวเรา
จะทำให้ Partner รู้สึกว่างานนี้นอกจากจะทำให้เค้าได้พัฒนาฝีมือ ได้เพิ่มทักษะหรือ Skill ใหม่ ๆ แล้ว หากคุณสื่อสารได้ดี เป้าหมายการทำงานของคุณและ Partner จะเปลี่ยนไป เส้นชัยจะไม่ใช่แค่ทำให้งานจบแล้วได้รับเงินค่าจ้าง แต่เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งมีคุณค่าให้ทุกคนเกี่ยวกับปัญหานี้ ได้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น มากกว่าการเก็บ Portfolito ให้กับบริษัทตัวเอง
6. สรุปงานเสมอ ให้ feedback บอกข้อต้องพัฒนาต้องปรับปรุง
ต้องบอกอย่างจริงใจทั้งปัญหาและหาทางแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นในครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะทำให้เห็นช่องทางหรือโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติมร่วมกันได้อีกด้วย
เมื่อมีแนวทางในการทำงานแบบนี้ การเป็น Partner ร่วมกันจึงมากกว่าเป็นแค่คนรับค่าจ้างแล้วทำงานจบกันไป
แต่เรากลับได้เพื่อนร่วมอาชีพ ที่ยิ่งคบก็ยิ่งจะเก่งขึ้น ยิ่งทำงานด้วยกันก็ยิ่งจะทำให้ธุรกิจเติบโตไปด้วยกัน
มีแต่ได้กับได้อย่างนี้ ก็มีแต่คนอยากเป็น Partner อยากเป็นเพื่อนร่วมงานด้วย
เราก็จะได้ขยายธุรกิจด้วยกำลังคนที่มีความสามารถหลากหลายขึ้นไปอีก
เชื่อเถอะค่ะ มีเพื่อนคู่คิดคู่ใจยามทำงาน ย่อมดีกว่าคิดเองทำเองคนเดียวแน่นอน
ติดตามสาระการจัดการดี ๆ กับ The Organice Podcast ที่จะมาชวนคุณพูดคุยกัน ว่าด้วยเรื่องการจัดการตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ให้ชีวิตของคุณ Nice ขึ้นได้ทุกวัน อัพเดทกันได้ทุกวันศุกร์ที่ www.creativetalklive.com หรือ Subscribe กันได้ที่ CREATIVE TALK Podcast ในช่องทางที่คุณสะดวกกันได้เลย
https://www.podbean.com/podcast-detail/sjw6x-74533/CREATIVE-TALK-podcast