Trending News

Subscribe Now

สำรวจสถานการณ์ COVID-19 โลก ผ่านคนไทย 5 ประเทศ

สำรวจสถานการณ์ COVID-19 โลก ผ่านคนไทย 5 ประเทศ

Article

ปลายเดือนธันวาคมปีก่อนเป็นครั้งแรกที่โลกพบกับกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนก่อนเชื้อดังกล่าวจะแพร่กระจายไปทั่วโลกจากเอเชียสู่ทั่วทุกทวีปในโลก มีคนไทยหลายคนตัดสินใจเดินกลับภูมิลำเนาของตัวเองแต่ก็ยังมีบางคนที่ตัดสินใจอยู่ประเทศนั้นต่อ Creative Talk คุยกับพวกเขาเหล่านี้ถึงสถานการณ์โควิด-19 ในแต่ละประเทศ

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์เมื่อวันวันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน สถานการณ์แต่ละแห่งข้อมูลอาจมีความเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์ COVID-19 ญี่ปุ่น

คุณแอน-นักศึกษา


Q: สถานการณ์โควิด-19 ในโอซาก้า ญี่ปุ่น (Osaka Japan)

A: ตอนนี้ร้านอาหาร ห้าง คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกอย่างยังเปิดให้บริการปกติ แค่ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยออกมาแล้ว หน้ากาก แอลกอฮอล์ขาดตลาด ถึงมีขายก็แพง

Q: การทำงานและมาตรการของรัฐบาล

A: คล้ายๆเหมือนจะปิดประเทศ เพราะปิดไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแล้ว ประมาณ 73 ประเทศ รวมไทยด้วย และมีประกาศให้ประชาชนงดออกจากบ้าน (ฟีลแบบขอร้อง) ก็ยังไม่มีอะไรเด็ดขาด เช่นเดียวกับบ้านเรา

Q: ระบบสาธารณะสุขและการรักษาของญี่ปุ่น

A: ค่ารักษาที่นี่ค่อนข้างแพง ถ้ามีประกันสุขภาพคือ รัฐออก 70% เรา 30% รูปแบบการตรวจไม่แน่ใจ แต่ว่าถ้าไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ตรวจให้ มีเงินก็ไม่ตรวจให้


สถานการณ์ COVID-19 เกาหลีใต้

คุณโบ-ล่าม 


Q: สถานการณ์โควิด-19 ในโซล เกาหลีใต้ (Seoul Korea)

A: โดยรวมปกตินะแต่ก็เป็นแค่บางคนนะ เป็นแค่บางคนเพราะว่าบางคนก็ต้องหยุดงานเพราะบริษัทไม่จ่ายเงินเดือน พวกสถานที่ท่องเที่ยวอย่างฮงแด หรือที่เป็นจุดท่องเที่ยวไม่ได้เงียบไปเลย แต่ว่าน้อยลง 

Q: การทำงานและมาตรการของรัฐบาล

A: ถ้าเราเปิดจีพีเอสที่มือถือ เวลาเราเดินไปทางไหนเขาก็จะระบุเลยว่าสถานที่ที่เรากำลังจะเดินผ่าน มีคนติดเชื้อนะอย่างเช่นพี่ทำงานย่านกังนัม ก็จะมีขึ้นแจ้งว่าละแวกที่คุณกำลังอยู่เนี่ยมีคนติดเชื้อวันนี้หรือช่วงที่ผ่านมา โดยแจ้งตลอด 24 ชั่วโมง 

Q: ระบบสาธารณะสุขและการรักษาของเกาหลีใต้

A: การตรวจที่นี่ฟรีเป็นบางเคส ถ้าเกิดว่าติดต่อกับ มันจะมีศูนย์ควบคุมโรค ถ้าเกิดว่าก่อนที่จะไป แนะนำให้โทรหาศูนย์ควบคุมโรคก่อนเพื่อแจ้งเบื้องต้นถึงอาการว่าเรามีอาการอย่างไร มีขั้นเสี่ยงไหม ถ้าไม่มีความเสี่ยงก็ไม่จำเป็นต้องไปเพราะว่าการไปอนามัยก็มีความเสี่ยงที่จะติดจากคนที่ติดเชื้อ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าอาการมันใกล้เคียงจริงๆ เจ้าหน้าที่ก็จะแจ้งว่าในแต่ละเขตมีอนามัยแถวไหนที่ใกล้บ้างที่สามารถที่จะไปได้บ้าง เพราะในเกาหลีต้องบอกก่อนว่า ทุกเขตเหมือนหมู่บ้าน มีอนามัยทุกหมู่บ้านเลย เป็นย่อยๆ เป็นร้อยเป็นพันเลยนะเพราะฉะนั้นการรักษาพยาบาลหรือการตรวจโรคก็กระจายได้ทั่วถึง ค่าตรวจปอดแค่ 3,000 วอน หรือประมาณหนึ่งร้อยบาท


สถานการณ์ COVID-19 ไต้หวัน

นุ๊กนิ๊ก-นักศึกษาปริญญาโท 


Q: สถานการณ์โควิด-19 ในนิวไทเป-ไต้หวัน (New Taipei Taiwan)

A: ไต้หวันตอนนี้ไม่ได้ซีเรียสหรือร้ายแรงแล้ว หมายถึงว่า รัฐบาลก็คุมตั้งแต่ต้นปีช่วงเดือนมกราคมที่ปิดไม่ให้คนจีนเข้ามาเพราะฉะนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 50 คน แต่ว่าพอกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลเรียกกลุ่มคนไต้หวันที่ไปทำงานต่างประเทศกลับมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นประมาณ 200-300 คน โดยคนส่วนใหญ่ที่กลับจากยุโรป

ตัวเลขของผู้ติดเชื้อแบ่งออกเป็น กลุ่มผู้ติดเชื้อที่กลับมาจากต่างประเทศ  และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ติดจากภายในประเทศ

Q: การทำงานและมาตรการของรัฐบาล

A: ส่วนตัวมองว่าไต้หวันค่อนข้างมีมาตรการคุมเยอะ และคุมดี เช่น หน้ากากอนามัยก็มีให้ซื้อได้ตลอด หรือเวลาไปร้านอาหารก็ต้องใช้เจลล้างมือ ฉีดสเปรย์ และวัดไข้ทุกคนก่อนเข้าร้าน รวมถึงรัฐบาลก็ขอความร่วมมือเวลาทุกคนออกไปข้างนอกให้ Social Distancing อยู่ห่างกันสองเมตร แต่ก็ยังมีคนที่ใช้ชีวิตปกติอยู่บ้าง เดินทางไปในที่ต่างๆ ไปแบบเป็นกลุ่ม แต่ก็จะมีแค่คนไต้หวันเท่านั้นเพราะปิดประเทศไปแล้ว 

หน้ากากอนามัยตอนนี้ก็ผลิตได้เยอะมากมีบริจาคไปให้ประเทศอื่นด้วย อย่างตอนขายเองเขาจะมีแบ่งตามเลขลงท้ายบัตรประกันสุขภาพ เลขคู่กำหนดให้ซื้อวันนี้ เลขคี่กำหนดให้ซื้ออีกวันที่ไม่ชนกัน แล้วก็จำกัดว่าในหนึ่งสัปดาห์ซื้อได้คนละ 3 แพ็ค แพ็คละ 15 บาท มี 3 ชิ้น 

Q: ระบบสาธารณะสุขและการรักษาของเกาหลีใต้

A: ตอนนี้การตรวจหลักๆ จะเป็นที่โรงพยาบาล เพราะสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากในประเทศเองตอนนี้อยู่ที่ 50 คน ตามข้อมูลที่เรามีอยู่ตอนนี้ทุกคนสามารถตรวจได้เพราะมีประกันสุขภาพกันอยู่แล้ว 


สถานการณ์ COVID-19 อังกฤษ

น็อต-นักศึกษาปริญญาโท 


Q: สถานการณ์โควิด-19 ในบริสโตล-อังกฤษ (Bristol England)

A: ก่อนเมืองเข้าสู่สถานการณ์โควิด-19 เมืองมีชีวิตชีวาเยอะกว่านี้ ด้วยความที่เป็นเมืองใหญ่ เมืองหนึ่งเลยในอังกฤษนะ มีทั้งสำนักงานต่างๆ มหาวิทยาลัย แต่ว่าคนยังออกมาออกกำลังกายนะ ด้วยความที่รัฐบาลเองก็ประกาศว่า ออกกำลังกายนอกบ้านได้วันละ 1 ครั้ง จับจ่ายซื้อของได้หากจำเป็น หรือถ้าเป็นเคสพวกสุขภาพ พบแพทย์ก็ออกมาได้ แต่ว่าร้านอาหารและร้านค้าเองก็เป็นรูปแบบเดียวกันกับไทยตอนนี้นะ มีให้ซื้อกลับบ้าน (Take away) เท่านั้น 

Q: การทำงานและมาตรการของรัฐบาล

A: มีรณรงค์เรื่อง Social Distance เหมือนกับทุกที่ อย่างร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต มีต่อให้คิวเข้าไปในร้าน จำกัดจำนวนคนเข้าต่อครั้ง โดยแต่ละคิวห่างกัน 2 เมตร พอคนข้างในซื้อเสร็จเรียบร้อย คนที่อยู่ด้านหน้าร้านถึงจะเข้าไปได้ แล้วพอเราเข้าไปซื้อก็จะมีจุดมาร์กไว้อีกว่า คุณยืนตรงจุดไหนได้บ้าง รวมถึงเวลาจ่ายเงินกับแคชเชียร์เองก็มีกระจกกั้น 

ส่วนที่รัฐบาลประกาศว่าให้ออกกำลังกายได้ เขาจำกัดว่ามาด้วยกันได้ครั้งละ 2 คน คนที่ออกมาวิ่งก็ให้ความร่วมมือนะ กระทั่งเวลาที่เขาวิ่งสวนกัน เลนไม่ได้กว้างมากแต่คนจะพยายามห่างกัน 1.50-2 เมตร 

Q: วิธีการและค่ารักษาพยาบาลเป็นอย่างไรบ้าง 

A: ที่นี่เขาบอกว่า ถ้ารู้สึกเช็กแล้วว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายหรือเสี่ยงให้โทรหาคอลเซ็นเตอร์และอยู่บ้าน พยายามรักษาสุขภาพตัวเอง เขาจะโทรมาเช็กอาการเราว่าเป็นอย่างไรแล้วบ้าง สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การรักษาตัวเองและอยู่บ้านหรือพื้นที่ของตัวเอง เพราะสถานการณ์โรงพยาบาลตอนนี้เองบุคลากรและอุปกรณ์ทางแพทย์ต่างๆ ก็มีจำกัด 


สถานการณ์ COVID-19 อเมริกา

คุณอ๋อง-Art Director,Microsoft


Q: สถานการณ์โควิด-19 ในนิวยอร์ก-สหรัฐอเมริกา (New York U.S.) 

A: นิวยอร์กเป็นเมืองที่มีความแออัดมากๆ ทีนี้ Social Distance ที่รณรงค์ให้แต่ละคนห่างกัน 2 เมตร (6 ฟุต) ไม่สามารถใช้ได้ยังไงคนต้องเดินชนกัน แล้วก่อนที่ภาพถนนหรือย่านต่างๆ โล่งก็ใช้เวลาเหมือนกัน ด้วยพื้นเพของคนทั้งประเทศนี้เลยเขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิและเสรีภาพสูงมาก การที่เขาถูกสั่งให้ห่างกันหรือต้องทำอะไรที่บังคับ เขาจะมีความขัดขืน แล้วเขาจะแสดงออกในลักษณะแหกกฎ เราจึงเห็นสถานการณ์อเมริกาตอนนี้ที่ค่อนข้างหนัก ผมคิดว่าปัญหามาจาก 1.ความหนาแน่นของประชากรสูง 2.ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทัน  ตอนแรกที่มีข่าวติดกันในเอเชีย คนที่นี่ก็ยังไม่ได้ตระหนักสักเท่าไหร่ แต่พอเริ่มมีเคสจากสเปน อังกฤษ เขาก็เริ่มตระหนักแล้วแต่ก็ไม่ทันเพราะไม่มีการเตรียมพร้อมมาก่อน 

ร้านอาหารที่นี่ปิดหมดมีแต่ Take away กับบริการจัดส่ง เขาประกาศว่าทุกอาชีพต้องทำงานอยู่ที่บ้าน แล้วถ้าคุณไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ก็ไม่ต้องทำงาน แต่ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดอยู่เพราะถือว่าเป็นอาชีพพิเศษ การบริการที่เกี่ยวกับอาหาร และร้านขายยา ซึ่งร้านขายยาที่นี่เหมือนเซเว่น มีขายของกินด้วย ท้ายสุดการคมนาคมของรัฐอย่าง บัส, รถไฟฟ้าใต้ดินต่างๆ ยังเปิดอยู่แต่ไม่มีคนขึ้นแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ตอนนี้น่ากลัวคือคนไร้บ้าน (Homeless) ในนิวยอร์กมีค่อนข้างเยอะ เริ่มมีก่ออาชญากรรม 

Q: การทำงานและมาตรการของรัฐบาล

A: ตอนนี้ล็อก ดาวน์ (Lock Down) 3 วันอย่างเป็นทางการแล้ว (ทีมงานสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม) ประมาณวันที่ 21 มีนาคม สหรัฐอเมริกามี 2 ระบบ ถ้าระบบระดับชาติ ประธานาธิบดีต้องสั่ง เช่น กฎอัยการศึกหรือภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์เองสั่งการภาวะฉุกเฉินแห่งชาติล่วงไปหลายวันแล้ว แต่ว่าในแต่ละรัฐเขาจะให้ผู้ว่าการเป็นคนออกคำสั่งกฎในรัฐของตัวเอง ปรากฏว่า บางรัฐยังไม่ล็อกดาวน์เลย ซึ่งบางรัฐเขาคิดว่า ความหนาแน่นน้อย คนอยู่ห่างกันเป็นกิโลเมตร จำนวนประชากรน้อยกว่า อีกทั้งเคสที่พบว่าติดเชื้อแล้วมีน้อยมาก แต่การที่ปล่อยให้คนเดินทางข้ามรัฐก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของปัญหา การที่บอกว่าล็อกดาวน์แต่ละรัฐก็มีความคุมเข้มต่างกัน การขีดกั้นพรมแดนข้ามกิโลเมตรแต่ละรัฐไม่สามารถทำได้ เพราะว่าต้องใช้กำลังจากตำรวจและทหาร 

ส่วนล็อกดาวน์ของนิวยอร์กเริ่มจากให้นักเรียน Learn From Home เพราะในแต่ละวันพ่อแม่จะต้องเดินทางไปรับส่งลูกอย่างน้อยวันละ 2 รอบ คือ ไปส่งและรับกลับ สาเหตุที่เขาไม่สามารถให้หยุดทั้งพ่อแม่และลูกได้พร้อมกันเพราะระบบมันจะพังทั้งหมด มันต้องค่อยๆ ทำทีละสเต็ป  แล้วถ้าลูกหยุดโรงเรียน พ่อแม่ต้องเฝ้าลูกอยู่ที่บ้าน เพราะการจ้างพี่เลี้ยงที่นี้แพงมาก กระทั่งบางคนที่รวยก็ยังไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายนี้ได้นะ

จากนั้นรัฐก็ประกาศว่า บริษัทไหนจะ Work From Home ก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกไม่ปลอดภัย ปรากฏว่าสามวันต่อมา รัฐก็ประกาศอย่างเด็ดขาดว่าทุกบริษัทต้องWork From Home แต่กว่าถนนจะโล่งก็เมื่อวานนี้เอง (25 มีนาคม) 

Q: วิธีการและค่ารักษาพยาบาลเป็นอย่างไรบ้าง 

A: ต้องเกริ่นก่อนว่า Healthcare ในอเมริกามีสองระบบ 1. เอกชนเป็นเจ้าของ (Private Health Insurance) และ 2.รัฐบาลสนับสนุน (Medicare / Medicaid ระบบนี้ส่วนใหญ่ให้พนักงานรัฐ คนรายได้น้อย ครู เด็กเล็กและผู้เกษียณอายุ) ไม่เหมือนบางประเทศเช่นแคนาดาที่รัฐจัดให้ฟรีหมด สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีรายได้ประจำ มักจะถูกบังคับให้หักเงินเดือน ส่วนหนึ่งซื้อประกัน Health care ซึ่งอันนี้อยู่กับบริษัทผู้จ้างว่าจะหาประกันสุขภาพระบบไหนมาเป็นกองทุน เงินที่หักไปต่อเดือนก็เป็นเปอร์เซ็นต์ เบี้ยประกัน ส่วนใหญ่ระดับพื้นฐานก็จะอยู่ในราคาใกล้ๆ กัน ต่อ pay check (เดือนนึงได้สองใบ) ละประมาณสองถึงสามร้อยเหรียญขึ้นไป

เงินที่หักไปก็จะเป็นสวัสดิการเช่นการตรวจเลือดตรวจสุขภาพฟรี ปีละ 2 ครั้ง การลดหย่อนค่าพบแพทย์ การลดหย่อนค่ายาที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ (ถ้าจ่ายเต็มราคาจะแพงมาก นี่คือช่องโหว่ของกฎหมายอเมริกันที่เปิดโอกาสให้บริษัทยาค้ากำไร) แต่กฎหมายกำหนดว่าทุกคนที่มีงานมีรายได้ต้องเสียภาษีและมีเงินประกันสุขภาพแบบนี้ ข้อจำกัดคือ ถ้าจ่ายเงินประกันแบบพื้นฐานถูกๆ การรักษาพยาบาลก็จะได้แบบพื้นฐาน เช่นโรงพยาบาลไม่ดี หมอคิวยาว นัดสองอาทิตย์กว่าจะได้เข้าตรวจ ยาบางตัวไม่มีส่วนลด

คนที่มีรายได้สูงกว่าก็มักซื้อ Premium health insurance จะได้หาหมอนอก network ที่เป็นหมอเอกชน โรงพยาบาลไฮโซ สะอาด บริการดีกว่า รวดเร็วกว่าก็ขึ้นอยู่กับแต่ละตน ว่ามีกำลังได้แค่ไหน เรียกว่าจ่ายหนักก็สบายกว่า

แล้วคนที่ไม่มีงานประจำ ทำอย่างไร? คนเหล่านี้ต้องหาซื้อประกันสุขภาพอิสระจากบริษัทเอกชนกันเองซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะเลือก โปรประเภทไหน ยิ่งครอบคลุมมาก ก็แพงมาก ถ้ารู้ตัวว่าโรคน้อย ร่างกายแข็งแรงไม่ต้องใช้ยาเยอะ ก็อาจประหยัดได้นิดหน่อย แต่ใน 1 เดือน ค่าประกันก็หกร้อยเหรียญถ้าซื้อเอง อันนี้แล้วแต่บางรัฐว่าเกณฑ์ค่ารักษาพยาบาลถูกแพง บางคนก็ใช้ระบบคลินิกแถวบ้าน หาหมออิสระ ก็ขึ้นอยู่กับว่าราคาความสะดวกจะพอใจมั้ย สรุปทุกอย่างเรื่องสุขภาพต้องใช้เงิน ไม่มีใครรักษาฟรี ไม่มีใครแจกยาฟรี มันเป็นธุรกิจที่ทุกคนถูกบังคับให้เล่น

หลายคนสงสัยว่า ทำไมเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอเมริกามีเกิน 300,000 เคสแล้ว เพราะความพังในระบบสุขภาพเดิมของอเมริกา ระบบสุขภาพที่ดูแพงที่สุดในโลก ระบบประกันสุขภาพอเมริกามีความซับซ้อนมาก เช่น เมดิเคด จะคลุมคนรายได้น้อย คนท้อง เมดิแคร์ต้องผู้สูงอายุ 65 ปีถึงใช้ได้ คนที่ทำงานทั่วไปต้องเลือกซื้อประกันที่ Co. กับบริษัทที่ตัวเองทำงาน ได้ยินว่าเบี้ยประกันค่อนข้างแพง

โรงพยาบาลในอเมริกาส่วนใหญ่ไม่หวังผลกำไร แต่รัฐบาลไม่ได้เข้ามาคุมเรื่องการรักษาโดยตรง โรงพยาบาลจะดีลกับบริษัทประกัน ทำให้ราคา Healthcare จะแพงขนาดไหนก็แล้วแต่ตกลงกัน Healthcare ในอเมริกาเป็นระบบ copay นั่นคือ มาที่ รพ. ปุ๊บ ต้องเสียค่าเหยียบโรงพยาบาลก่อน ค่าหมอ ค่ายา ค่าพยาบาลต่างๆ บิลจะออกมาตอนกลับบ้าน ซึ่งแม้มีประกันก็ไม่ถูก แต่การมีประกันจะเซฟตรงที่ยอดสูงสุดที่เราต้องจ่าย ถ้าเกินนั้นประกันจะออก แต่ยังไงเราก็ต้องจ่ายบ้าง และระบบประกันมีช่องโหว่ จะมีคนบางส่วนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง เมดิเคด เมดิแคร์ และ ประกัน เช่น เป็นฟรีแลนซ์ แต่รายได้มากกว่าเกณฑ์ ทีนี้มี Obamacare ออกมา ช่วยครอบคลุมให้ แต่ปีล่าสุดยกเลิกการบังคับเข้า Obamacare ฉะนั้นตอนนี้คนที่ไม่มีประกันสุขภาพมีประมาณ 30% ของประเทศ ทำให้เพิ่งมีข่าววัยรุ่นอายุ 17 ตายจากโควิด-19 เพราะไม่มีประกัน เลยไม่ได้รักษาที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ 1.เมื่อคนไม่มีประกันสุขภาพ แล้วพอป่วย ช่วงแรกๆ ที่ติดเชื้อ อาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี ก็ยังไม่ไป รพ. แน่ๆ นั่นคือปัจจัยแรก เพราะถ้าไปเมื่อไร ค่าใช้จ่ายแพงมหาศาล อาจจะล้มละลายตายก่อน covid ฉะนั้น พอป่วยแล้วไม่ไปรักษา (คาดว่าคงไม่ได้กักตัว) เชื้อก็แพร่กระจายออกไป 

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ 
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

Related Articles

Queer Eye – มาเมคโอเวอร์ชีวิตกัน

สูตรสำเร็จของรายการแบบเมคโอเวอร์หรือรายการที่นำเสนอการ “เปลี่ยนชีวิต” คงหนีไม่พ้นการลุกขึ้นมาพลิก ปรับ เปลี่ยนผู้ร่วมรายการที่มีปัญหาไม่ชอบใจและไม่มั่นใจในชีวิต ให้เกิดความแตกต่างจากเดิมชนิดพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ   เราอยากพูดถึงรายการเมคโอเวอร์รายการหนึ่ง ชื่อ “Queer…

Article | Digital marketing
libero dictum dapibus quis mi, libero. Nullam