Trending News

Subscribe Now

สำรวจความเคลื่อนไหววงการออกแบบกับฉมา ในยุคที่สังคมก้าวสู่ยุคผู้สูงวัย

สำรวจความเคลื่อนไหววงการออกแบบกับฉมา ในยุคที่สังคมก้าวสู่ยุคผู้สูงวัย

Article | Creative/Design

หลายปีมานี้ปรากฏการณ์ระดับโลกที่หลายประเทศต้องเจอ คือความท้าทายในการก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ในปี 2030 จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 1.4 พันล้านคน และปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคน

จำนวนที่เพิ่มขึ้นของประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต และเมืองในอนาคต รัฐบาลประเทศต่างๆ จึงออกมาตอบรับปรับตัวกับมาตรการและนโยบายสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย 

ยุคผู้สูงวัย


อย่างที่เรามักได้ยินว่าญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงวัยอันดับต้นๆ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรอายุมากกว่า 65 ปี และในปี 2040 จะเพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยนี้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) ก่อนใคร

ญี่ปุ่นออกมาตรการดูแลหลายอย่าง เช่น ประกันสุขภาพระยะยาว (long term care insurance – LTCI) ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 ครอบคลุมการดูแลด้านพยาบาล บ้านพักคนชรา ไปจนถึงการช่วยเหลือซื้อของใช้ในบ้าน เน้นให้ผู้สูงอายุเลือกบริการที่ตัวเองต้องการได้ โดยเป็นการใช้เงินเรียกเก็บจากผู้ประกันตนรวมกับภาษีของรัฐ รวมเดือนละประมาณ 2,900 ดอลลาร์สหรัฐ

หรืออย่างในเมืองโทยามะ ภาคชูบุ พัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองรับผู้สูงวัย โดยออกแบบให้พื้นรถมีระดับต่ำ ในสถานีรถไฟปรับระดับทางลาด ไม่มีสิ่งกีดขวางสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านได้  สถิติในปี 2009-2012 มีผู้สูงอายุออกมาใช้บริการมากถึง 61 เปอร์เซ็นต์

อีกทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมออกแบบให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตได้สะดวก เช่น การออกแบบรถเข็นสี่ล้อพร้อมตะกร้าใส่ของ ในโครงการ Walking-Around Community โดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยโทยามะและองค์กรท้องถิ่น หรือมีภาคเอกชนออกแบบปุ่มกดฉุกเฉินในบ้านสำหรับผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวด้วย

ในบ้านเราเองมีความเคลื่อนไหวของเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย กลุ่มที่น่าจับตามองคือ สถาปนิกและนักออกแบบที่ระดมความคิดทำงานเพื่อตอบโจทย์สังคมในอนาคตร่วมกับทั้งภาครัฐและเอกชน และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ฉมา จำกัด บริษัทภูมิสถาปนิกที่มีผลงานการออกแบบทั้งในไทยและต่างประเทศมานานกว่า 10 ปี

ครั้งนี้พวกเขาได้ร่วมงานในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) โครงการที่อยู่อาศัยผสมผสานกับการดูแลสุขภาพโดยธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ที่ตอบโจทย์วัยเกษียณสอดคล้องกับแนวคิด Universal Design 

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้


เบื้องหลังการออกแบบครั้งนี้คืออะไร พื้นที่เพื่อผู้สูงวัยในมุมมองของภูมิสถาปนิกเติบโตในบ้านเราอย่างไรบ้าง เราชวน ใหม่–ประพันธ์ นภาวงศ์ดี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฉมา จำกัดมาพูดคุยถึงการทำงานครั้งนี้กัน

วงการสถาปัตยกรรมกับสังคมที่ก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย

เมื่อพูดถึงเทรนด์การออกแบบเพื่อผู้สูงวัยในบ้านเรา ใหม่เล่าว่า กระแสการพูดถึงกระจายในภาครัฐและเอกชนที่หันมาสนใจแนวคิดด้านนี้อยู่ เห็นได้จากการจัดงานเสวนา นิทรรศการ และระดมความคิดเพื่อพัฒนาต่อยอดออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับวิถีชีวิตของผู้คนในอนาคต

“ในด้านสถาปัตยกรรมเรามีเรื่อง Universal Design ที่ต้องคำนึงถึงซึ่งส่วนหนึ่งก็บังคับเป็นกฎหมายในอาคารประเภทสาธารณะอยู่แล้ว หลังๆ บริษัทเอกชนก็เริ่มมองเห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้นเริ่มคิดไว้ในความต้องการพื้นฐานที่คนเริ่ม experience แล้วอย่างห้างสรรพสินค้า”

การออกแบบ Universal Design ที่เขาว่าคือ ข้อกำหนดการออกแบบให้สอดรับกับพฤติกรรมของ ผู้สูงวัย เช่น ราวจับระหว่างทางเดิน ทางลาด การลดพื้นที่ที่เป็นบันได ทุกๆ 6 เมตรจะต้องมีทางเรียบและต้องมีการออกแบบที่คำนึงถึงผู้สูงอายุใช้วีลแชร์ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทีมของฉมาก็นำมาออกแบบในโครงการจิณณ์เช่นเดียวกัน

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้


ถึงแม้บ้านเรามีการกำหนด Universal Design ไว้ในข้อกฏหมาย แต่ในมุมมองของนักภูมิสถาปนิกพบว่า ต่างประเทศจะมีข้อกำหนดชัดเจนมากกว่าบ้านเรา

“อย่างผมเคยไปทำงานที่สิงคโปร์ก็เห็นว่าเขาเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยพร้อมๆ กับไทย เขาก็ไม่ได้ ก้าวไปไกลกว่าเรามาก เพียงแต่กฎหมายเขาจะแข็งแรงกว่าแล้วก็ชัดเจนกว่า เขาจะเขียนไว้เคลียร์มาก เช่น การทำทางลาดถ้ามีเปลี่ยนระดับต้องเปลี่ยนระดับทางลาดด้วย อย่างราวจับมีอะลูมิเนียมโค้งงอเพื่อความปลอดภัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้คุณต้องทำตาม ถ้าไม่มีไม่ได้เลย”

การออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์เพื่อผู้สูงวัยและคนในครอบครัว

สำหรับโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ นับเป็นโครงการแรกๆ เกี่ยวกับผู้สูงวัยที่ฉมาร่วมออกแบบ แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็เริ่มทำงานกับบริษัท ธนบุรี กรุ๊ปตั้งแต่การวางผัง เพราะการออกแบบภูมิทัศน์ตั้งแต่แรกจะช่วยทำให้เกิดพื้นที่สีเขียวที่ดีได้ รวมถึงยังนำแนวคิด Universal Design เข้ามาเป็นพื้นฐานในการออกแบบเพื่อตอบโจทย์ผู้สูงวัย

“โครงการนี้เราพูดถึงผู้สูงวัยที่อยากจะอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากๆ ดังนั้น แนวคิดแรกของเราคือเรื่องความยั่งยืนของการทำธรรมชาติให้เกิดขึ้นในโปรเจกต์ ไม่ได้มองว่าเป็นการออกแบบสวนเพียงตกแต่ง” 

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้

นั่นคือโจทย์ที่นักภูมิสถาปนิกอยากออกแบบเพื่อความต้องการผู้สูงวัย ซึ่งก่อนจะได้โจทย์การทำงานนี้ พวกเขาต้องลงพื้นที่รีเสิร์ชข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วนำมาประกอบกับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญของฝั่งธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ซึ่งนั่นทำให้ทีมฉมาได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผู้สูงวัยใหม่ๆ

“ตัวอย่างเช่น เราพบว่าเทรนด์ของผู้สูงวัยในปัจจุบันนี้ แม้อายุเลย 60-65 ไปแล้ว แต่ยังมีพละกำลังที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่พัฒนาอยู่เสมอด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีโอกาสอยู่บ้านมากขึ้น เขาก็อยากทำงานหรือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง วิธีการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางจะคิดต่างกับคอนโดของคนหนุ่มสาวกลางเมืองเลย เพราะอย่างหลังเขาจะไม่อยู่ห้องในวันจันทร์ถึงศุกร์ใช่ไหมครับ แต่ผู้สูงวัยเขาจะต้องอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่”

“อีกอย่างคือเราต้องไม่ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกโดดเดี่ยว อันนี้คือข้อระวัง เพราะถ้ารู้สึกโดดเดี่ยว มันอาจจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าชีวิตไม่ฟูลฟีล ผู้สูงวัยเลยต้องการอยู่แบบ socialize ในการเกาะกลุ่มกัน”

ฉมาจึงออกแบบให้พื้นที่ในโครงการจิณณ์เป็นสถานที่พบปะของคนที่นี่ และเชื่อมโยงเป็น คอมมิวนิตีได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบให้มีพื้นที่ edible garden หรือปลูกสวนผัก เพื่อมาทำอาหารทานด้วยกัน, พื้นที่พบปะพูดคุย, สระว่ายน้ำตื้นที่ให้ผู้สูงวัยเดินออกกำลังกายในน้ำได้, พื้นที่สวน reflexology park ทำเลที่นวดเท้าแบบความเชื่อจีน หรือสวนที่ให้ผู้สูงวัยได้มาเดินออกกำลังกล้ามเนื้อ  

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้


“ในการออกแบบเราจะออกแบบพื้นที่ให้มี chance meeting ครับ คือสามารถจัดกิจกรรมหนึ่ง ถึงกิจกรรมหนึ่งมองเห็นกันและกัน แล้วก็มีโอกาสให้ทำความรู้จักเป็นเพื่อนกันตลอดเวลาในโครงการนี้  ซึ่งตอนแรกเรามองภาพไม่ออกเหมือนกันว่าจะออกมาเป็นยังไงบ้าง เพราะว่าแต่ก่อนเรามีภาพจำว่าผู้สูงวัยต้องการความสงบ แต่ว่าพอได้มาทำจริงแล้วก็เหมือนออกแบบแคมปัสสำหรับนิสิตนักศึกษา เพราะเอาจริงๆ ผู้สูงวัยเป็นช่วงวัยที่คนต้องการจะกลับมาอยู่ร่วมกันอีกที หลังจากผ่านชีวิต ต่อสู้กับชีวิต ประสบความสำเร็จ เจออะไรต่างๆ มาแล้ว ก็ถึงวัยที่กลับมาพบปะเพื่อนๆ อีก”

ในด้านสิ่งแวดล้อม ใหม่เล่าว่า พวกเขาออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวที่ยั่งยืน เพื่อให้มีบรรยากาศที่ช่วยเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี สอดคล้องกับข้อมูลที่เขารีเสิร์ชพบว่าคนที่อยู่ในพื้นที่สีเขียวเยอะจะทำให้เส้นกราฟอายุขัยยาวมากกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่สีเขียวน้อย

“พื้นที่ที่ตั้งโครงการอยู่รังสิต ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม เราเลยต้องคิดถึงการป้องกันน้ำด้วยการขุดคลองขึ้นมากลางโครงการเพื่อเป็นตัวระบายน้ำ ถ้าฝนตกหนักสามารถรับน้ำได้ แล้วน้ำที่เราเก็บไว้สามารถเอามารดน้ำต้นไม้ในโครงการได้ ทำให้ประหยัดการใช้น้ำประปา” 

จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้

อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องความปลอดภัย ใหม่เล่าว่าการออกแบบโครงการนี้ต้องคิดให้ครอบคลุมความปลอดภัยรอบด้าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้บริการผู้สูงวัยได้ทันที เช่น ออกแบบทางกายภาพให้เดินเหินไปไหนได้สะดวก ไม่มีการสร้างบันไดไว้ แต่จะเป็นพื้นที่สโลปแทน ถ้าหากมีผู้ใช้วีลแชร์จะสามารถไปได้ทุกที่ ตลอดทางหลักมีที่จับให้ หากล้มลงสามารถพยุงตัวเองขึ้นมาได้ มีที่นั่งพักให้ทุกๆ 30 เมตร  และถ้าหากเกิดอุบัติเหตุหรือล้มลงในจุดใดจุดหนึ่ง รถพยาบาลต้องเข้าถึงได้ทุกพื้นที่

โจทย์ของสังคมไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยในทุกภาคส่วน

จากประสบการณ์การทำงานออกแบบให้ต่างประเทศ และการได้ร่วมออกแบบในโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาท์ตี้ แม้ใหม่จะออกตัวว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสถาปัตยกรรมเพื่อผู้สูงวัยโดยตรง แต่เขามองว่า หากเราจะตอบโจทย์การออกแบบเพื่อผู้สูงวัยได้ การศึกษาถึงบริบท วิถีชีวิตในสังคมบ้านเรายังเป็นเรื่องสำคัญ

“ผมว่าเรายังต้องพัฒนารูปแบบสังคมสูงวัยของเราเข้ามาเอง เพราะสังคมเราก็ไม่เหมือนที่อื่น คนไทยยังอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวใหญ่ ยังมีความผูกพันกันอยู่พอสมควร อย่างสังคมอื่นบางทีเขาก็แยกตัวออกไป อยู่เป็นกลุ่มที่อาจจะมีแต่ผู้สูงวัยเลย”

“แต่ทีนี้อีก 10 ปีข้างหน้าล่ะ สังคมไทยจะเป็นยังไง เพราะอย่างที่ผมเห็นหลายๆ คนมาซื้อที่โครงการจิณณ์ก็ยังไม่เข้าสู่รุ่นสูงวัย ประมาณ 40-50 ปี หลายคนก็มองเห็นว่าต้องหาที่แล้วล่ะ เพราะบางบ้านก็เริ่มแยกตัวออกมาอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็คงต้องค้นหากันต่อไปว่าเราจะตอบโจทย์ปัญหาผู้สูงวัยในแบบของไทยได้ยังไง”

อีกสิ่งหนึ่งที่ภูมิสถาปนิกคนนี้มองเห็นคือ แม้จะมีการพูดคุยไอเดียเรื่องนี้ในบ้านเรา แต่ยังนำไปสู่การปฏิบัติได้น้อยอยู่ อีกทั้งการจะทำให้เรื่องนี้เติบโตขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะต้องได้รับการสนับสนุนและการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพราะถ้าหากกลุ่มทุนพัฒนาพื้นที่มาตอบโจทย์ต่อสังคมสูงวัยกลุ่มหนึ่ง แต่ในพื้นที่สาธารณะและขนส่งมวลชนไม่ตอบโจทย์ก็อาจจะไม่ส่งเสริมให้กับผู้สูงอายุในวงกว้างได้

“ในที่สุดแล้วเรื่องนี้จะถูกกระตุ้นด้วยระบบเศรษฐกิจแน่นอน ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น กลุ่มที่ผู้สูงวัยมีเงินเยอะ เขาต้องการใช้เงินแน่นอน เพราะฉะนั้นมันจะมีธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงวัยขึ้นมากมายไปหมดครับ แต่ก็อย่างที่บอกว่าสำหรับเมืองหรือว่าพื้นที่สาธารณะ รัฐอาจจะต้องปรับตัวทัน สามารถปรับปรุง facility ต่างๆ ให้เหมาะกับผู้สูงวัยทุกกลุ่มด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าตอบสนองเฉพาะกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ไม่ออกมาเพื่อคนส่วนรวมมากเพียงพอ”

“ดังนั้นชาเลจน์ของบ้านเราคือ 5-10 ปี หลังจากนี้เราจะสามารถบังคับใช้การออกแบบเพื่อผู้สูงวัยเป็นกฏหมายหรือว่าเอามาต่อยอดในโปรเจกต์ต่างๆ ที่สัมผัสกับคนจริงๆ ได้มากน้อยแค่ไหน” ใหม่ชวนตั้งคำถามทิ้งท้าย 

เรื่อง : August 96
ภาพ : โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County),
Unsplash

อ้างอิง :

Related Articles

เรียนรู้จากก้าวเดินที่ผิดพลาดของสตาร์ทอัพ

เมื่อคราวที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่อง การพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการแบบสตาร์ทอัพไปแล้วนะคะ และอย่างที่เราได้ทิ้งท้ายกันเอาไว้ ว่าเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ บางครั้งก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่ข้างใน คล้ายโอริโอ้ที่มีไส้ให้เราต้อง บิด ชิมครีม จุ่มนม…

Article | Entrepreneur

Apple เปิดตัวโฆษณายาว 10นาที ต้อนรับตรุษจีน

เพื่อต้อนรับตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ Apple จึงได้เปิดตัวโฆษณาตัวล่าสุดความยาว 10นาที ที่แน่นอน ถ่ายภาพวิดีโอทั้งหมดด้วย iPhone ตัวใหม่…

Article | Creative/Design

หรือความไม่ระวังจะทำให้ COVID-19 ไม่หายไป? สำรวจ second wave ของโรคระบาดว่าเพราะอะไรที่ทำให้คงอยู่

เกือบ 4 เดือนแล้ว หลังจากที่จีนพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่เมืองอู่ฮั่น คงไม่มีใครเคยคาดคิดว่าเจ้าไวรัสตัวนี้จะเกิดการแพร่กระจายอย่างหนัก จากเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งเข้าไปสู่ระดับประเทศและระบาดใหญ่…

Article | Creative/Design
efficitur. diam eleifend felis suscipit dapibus tristique facilisis Praesent