“พี่คะ หนูมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานจนอยากจะลาออก โดยบอกว่าจะไปเรียนต่อแทน แต่หนูก็กังวลว่าพอลาออกแล้ว เจ้านายจะมาพบทีหลังว่าเราไปทำงานอยู่ที่อื่นนี่จะเป็นอะไรไหม?’
ปัญหาความไม่ลงรอยในที่ทำงานดูจะเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบเจอและดูจะแก้ไม่ตกสักที อย่างเช่นน้องในที่ทำงานคนหนึ่งแบกปัญหาหนักอกดังกล่าวเกี่ยวกับเพื่อนร่วมงานมาปรึกษา
อันดับแรก ใจเย็น ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ เก็บเรื่องลาออกเอาไว้ก่อน เพราะสิ่งที่คุณควรจะทำคือ ต้องรู้จักใช้ CEO ทำงาน พูดอย่างนี้แล้วหลายคนอาจจะงงว่า เอ๊ะ! แล้วฉันจะใช้ CEO ทำงานได้อย่างไรล่ะ?
จริง ๆ แล้ว CEO ที่คุณเห็นเขายุ่ง ๆ ในทุกวันนี้เขาก็มีหน้าที่เหมือนกัน ลักษณะหน้าที่ของ CEO หลัก ๆ เลยคือ
1. เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ ว่าในปีนี้บริษัทควรทำอะไรบ้าง กำหนดทิศทางว่าควรไปในทิศทางไหน ควรทำอะไรบ้าง ซึ่งวิสัยทัศน์ควรจะมีการพิจารณาเรื่อย ๆ ทุกปี อาทิ ดูภาพรวมองค์กรปีนี้ว่าควรเป็นอย่างไร ดูสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ดูธุรกิจที่กำลังดำเนินไป รวมถึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และในภายภาคหน้าองค์กรควรปรับตัวอย่างไรในแต่ละปี
2. เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องเงิน การกำหนดทิศทาง การหา partner การร่วมหุ้น หรือเรื่องใหญ่อื่น ๆ ซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องใช้ CEO ทำงาน CEO ในที่นี้อาจจะหมายถึงผู้ที่เป็นหัวหน้าก็ได้ เพราะหัวหน้าก็มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ เหมือนกัน แต่อาจจะรองมาจาก CEO อีกที เนื่องจากในบริษัทใหญ่ไม่ใช่ว่าพนักงานทุกคนจะสามารถเข้าถึงตัว CEO ได้เลย อาจเข้าถึงหัวหน้าได้ง่ายกว่า (หัวหน้าก็ทำงานเหมือน CEO แต่หน้าที่เล็กลงมา)
3. การบริหารบุคลากร เช่น การเลือกว่าใครจะเป็นหัวหน้า หรือการคัดเลือกพนักงานที่จะเข้ามาร่วมงาน และถ้าพนักงานมีปัญหากัน บางครั้ง CEO ก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยคิด ช่วยตัดสินใจ หรือหาวิธีการประนีประนอม (ถ้าเป็นบริษัทใหญ่จะมีฝ่าย HR มาช่วยคัดกรองบุคลากรส่วนหนึ่งแล้วจะส่งต่อไปให้ CEO พิจารณาอีกที)
เมื่อรู้หน้าที่ของ CEO แล้ว เราจะใช้เขาหรือหัวหน้าทำงานได้อย่างไร?
ในกรณีที่คุณมีปัญหาใกล้เคียงกับน้องในตอนต้นที่กล่าวมา คือ ปัญหาเรื่องเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในหน้าที่และการจัดการของ CEO เหมือนกัน
การใช้ CEO ในกรณีนี้คือ แนะนำให้ลองเข้าไปคุยกับ CEO ดู เพราะมันเป็นหน้าที่ของเขา บอกว่าคุณเจอปัญหาอะไรมา ปัญหานี้แก้ได้ไหม จะแก้ได้อย่างไร แล้วลองฟังดูว่า CEO เขาจะให้คำแนะนำอย่างไรแก่คุณ
ปัญหาแบบนี้ค่อนข้างดราม่า ซึ่งส่วนใหญ่พอเกิดเหตุการณ์คุณมักจะจับกลุ่มคุยกันกับเพื่อน ซึ่งการคุยกันแบบนี้ถามว่ามันเกิดประโยชน์อะไรไหม? การที่คุณไปคุยกับเพื่อน คุณก็จะเจอเพื่อนน่ารัก ๆ ที่พร้อมจะเข้าข้างคุณเต็มไปหมด ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรคุณมากเท่าไหร่ นอกจากเป็นการให้กำลังใจ หรือทำให้คุณได้ระบายความอัดอั้นตันใจออกมา แต่พอมองในเชิงของการทำงาน เพื่อนก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก
อย่าลืมเหรียญมันมีสองด้านเสมอ เวลาคุณพูดกับเพื่อน คุณก็จะพูดแค่ในฝั่งของคุณ แต่ถ้าคุณลองไปพูดกับหัวหน้า หรือใครที่อาจจะไม่ได้มองแบบเดียวกัน อาจจะช่วยทำให้คุณได้รู้มุมมองจากอีกฝ่ายหนึ่งทำให้รู้ว่าปัญหามันเป็นอย่างไร และถ้าได้คำปรึกษาจากคนที่เป็นกลางจะทำให้คุณได้มุมมองที่ชัดเจนกว่า
แต่! ถ้าเกิดคุณดันมีปัญหากับ CEO ล่ะ?
คุณก็ต้องดูว่ามีปัญหาด้านไหนจากหน้าที่สามข้อที่พูดไปข้างต้น สมมุติว่ามีปัญหาทางด้านวิสัยทัศน์ของ CEO ว่าวิสัยทัศน์หรือทิศทางของเขาในปีนี้มันไม่เป็นไปอย่างที่คุณชอบหรือเห็นด้วย จะทำอย่างไร?
บริษัทก็เหมือนเรือลำหนึ่ง ในเรือลำนั้นประกอบไปด้วยตำแหน่งต่าง ๆ มากมาย ทั้งกัปตันเรือ กะลาสีเรือ ซึ่งคุณก็เป็นหนึ่งในนั้น และการที่คุณกระโดดขึ้นมาบนเรือลำนี้ในตอนแรกอาจจะเพราะว่า หนึ่งเรือลำนี้สวยดี สองเรือลำนี้ไปในทิศทางที่คุณอยากจะไป แต่ก็มีบางครั้งที่คุณอาจจะไม่พอใจกับทิศทางของเรือลำนี้ หรือพอไปสักพักเริ่มรู้สึกว่าเรือลำนี้มันแล่นช้าจังเลย เกิดไม่ชอบขึ้นมา มันก็โอเคนะ ที่คุณจะกระโดดออกจากเรือ แล้วเปลี่ยนไปขึ้นเรือลำอื่น และก่อนจะออกจากเรือแนะนำว่าให้หันไปคุยกับหัวหน้าหรือ CEO หรือคนที่ให้คำตอบเรื่องพวกนี้กับคุณได้ว่า ‘เห้ย ทำไมเรือแล่นช้าจัง’ ซึ่งไม่แน่ว่าที่มันช้าเพราะเขาอาจจะกำลังเตรียมอะไรไว้ก็ได้ ดังนั้นคุณควรไปคุยกับเขาก่อน และถ้าเกิดเขาตอบกลับมาว่า อ่อ มันแล่นช้าอย่างนี้อยู่แล้วและมันก็จะแล่นช้าอย่างนี้ไปอีก 10 ปี แหละ แค่นี้คุณก็รู้แล้วว่านี่ไม่ใช่ คุณจึงค่อยกระโดดลงจากเรือ
แต่หากคุณมีปัญหากับการตัดสินใจของ CEO คุณต้องดูว่า CEO เป็นคนยังไง อย่าลืมว่า CEO ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง บางครั้งเขาอาจจะตัดสินใจผิด หรือตัดสินใจอะไรที่ไม่ฉลาดเอาเสียเลย ถ้าเขาเป็นคนที่เปิดใจมากพอ คุณลองพูดคุยกับเขาดูได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยกันพัฒนาองค์กร แต่ถ้าคุณเจอ CEO หัวแข็งนี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าไปคุยกับ CEO ตรง ๆ
เคยมีบทความหนึ่งเขียนไว้ว่า 6 อาชีพที่มีสิทธิ์ตกงาน หนึ่งในนั้นมีอาชีพ CEO อยู่ด้วยเพราะในอนาคตองค์กรจำเป็นต้องเดินไปด้วยความรวดเร็ว การรอให้ CEO มาตัดสินใจเพียงคนเดียวอาจจะช้าเกินไป และ CEO อาจจะไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดในองค์กร เพราะในบริษัทอาจจะมีคนที่เก่งด้านนู้นนี้เต็มไปหมด ดังนั้น CEO จะมากำหนดทิศทางอะไรเยอะแยะขนาดนี้ไม่ได้ เขาจึงคาดการณ์ว่าต่อไปอาจจะไม่มีอาชีพ CEO แล้วจะเหลือแค่หัวหน้าแต่ละกลุ่มแทน
บทบาทหลัก ๆ ของ CEO คือ การเป็นผู้นำ ซึ่งสำคัญที่สุดของผู้นำคือ ต้องมีผู้ตาม ผู้นำที่ดีจริงต้องมีผู้ตามที่ตามเพราะความนับถือ เคารพ และมีความเชื่อในสิ่งเดียวกันที่ CEO มี
ถอดความจาก: Creative Wisdom Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟ้ังเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD
ถอดความโดย: ภัทราวดี ศรีชัย
นักศึกษาเอกฟิล์มที่มักจะมองทุกเรื่องในชีวิตให้เป็นเรื่องตลก
บทความที่แนะนำ