การเผชิญหน้ากับปัญหา ย่อมดีกว่าการหนีปัญหาหรือการซุกปัญหาเอาไว้ก่อน ซึ่งผลตามมาภายดูจะหนีไม่พ้น 2 ประเด็นคือ ปัญหานั้นอาจจะบานปลายใหญ่โตไปถึงคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรืออาจจะไปกระทบกับ “ความชื่อใจ ความไว้วางใจ” ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญของการทำงานและความสัมพันธ์อื่นที่นอกเหนือจากเรื่องงานไปด้วย
ดังนั้น การทะเลาะ กัน อาจถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเปิดเผย
หากมองแบบนี้แล้ว การมีบทสนทนาหนัก ๆ อาจจะไม่ใช่ “จุดจบ” แต่อาจเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการเปิดพรมขึ้นมา ยกเอาปัญหาขึ้นมามองกันจริง ๆ จัง ๆ แล้วหาทางออกก็เป็นได้
แต่การทะเลาะกัน หรือการยกประเด็นหนัก ๆ ขึ้นมาพูดกันก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะจัดการได้
ดังนั้นมี 6 เรื่องสำคัญที่ต้องทบทวน และพยายามยั้งใจให้นึกถึงเรื่องเหล่านี้บ่อย ๆ เพื่อให้การทะเลาะกัน มีผลลัพท์ที่ดีมากกว่าแค่การตีกันแล้วมีแต่ความบาดหมางใจกันไป
1. เราต้องการอะไรจากการสนทนานี้ ?
ทบทวนตัวเองให้ดีว่าการพูดคุยครั้งนี้เราต้องการอะไร ซึ่งหลักใหญ่ใจความมักจะมีอยู่ 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ
– ต้องการบอกความไม่พอใจ ดังนั้นหากอีกฝ่ายไม่มีคำตอบหรืออาจจะตอบมาไม่ตรงใจ ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดคาด
– ต้องการรู้เหตุผลหรือการชี้แจงของอีกฝ่าย ดังนั้นคุณต้องฟัง เมื่ออีกฝ่ายกำลังชี้แจง อย่าแทรกอย่าตัดบท เพราะนี่คือสิ่งที่คุณต้องการ
– ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นคุณต้องเปิดใจแนวทางแก้ไขของอีกฝ่าย และต้องพยายามคิดด้วยว่าคุณจะมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรบ้าง
2. เรากำลังพูดคุยกับใคร
มองคนตรงหน้าให้ดี ว่าคนคนนี้คือ หัวหน้าของเรา คนในครอบครัว คนรัก คนที่เราแคร์ เมื่อเป็นคนที่เรารู้ว่ามีความสำคัญในชีวิต เราจะระมัดระวังคำพูดอากัปกิริยาของเรา ตรงกันข้ามหากคู่สนทนาของเราคือคนที่เราแค่ต้องการให้เค้าทำให้ถูกต้อง อาจเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่ออีกฝ่ายตอบกลับมาไม่ดีอย่างที่เราคิดไว้ก็จะได้เข้าใจว่านั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้จักเรามาก่อน เขาจึงปฏิบัติกับเราอย่างนั้น
3. จบเป็นเรื่องๆ และอยู่ในประเด็นเสมอ
ต้องตอบให้ได้ว่า “เดี๋ยวนะ …. เรากำลังคุยกันเรื่องอะไรอยู่” พูดได้พูดออกมาเลย เช่น ฉันไม่พอใจที่เธอใช้เสียงแบบนี้กับฉัน ฉันไม่พอใจที่งานออกมาไม่ตรงตาม deadline ทำไมงานถึงผิดพลาดขนาดนี้ ทำไมวันนี้ไม่ติดต่อมาเลย
เพื่ออะไร?
– เพื่อให้อยู่ในประเด็น ไม่หลงไปเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกัน พูดคุยกันทีละเรื่อง ให้จบเป็นเรื่อง ๆ ไป
– เพื่อหัวใจสำคัญเลยคือ เรากำลังถกเถียงกันในเรื่องพฤติกรรมที่เราไม่ชอบใจ เรากำลังเถียงกันเพราะเราไม่ขอบผลของงาน เพราะสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่จะทำให้เราผิดใจกันขึ้นมาจริง ๆ และมองหน้ากันไม่ติดคือ “เราไม่ได้ถกเถียงกันเรื่องตัวตนของอีกฝ่าย”
เพราะเมื่อไหร่เราไปเผลอไปทำให้การทะเลาะนี้เป็นการตัดสินตัวตนของอีกฝ่าย เราจะมองหน้ากันไม่ติดทันที
ข้อนี้จะทำได้ยาก ถ้าเราเป็นคนซุกเรื่องที่ไม่พอใจไว้มาก ๆ เราจะเราทุกเรื่องผสมรวมกัน จนแยกไม่ออกว่าเรากำลังทะเลาะเรื่องอะไร
4. หลีกเลี่ยงคำต้องห้าม
คำพูดก็เป็นอาวุธได้ คำพูดที่ทิ่มแทงและต้องห้ามสำหรับการทะเลาะกันมีอะไรได้บ้าง
คำพูดต้องไม่หยาบคาย
คำพูดประชดประชัน
คำพูดโกหก ทั้งเรื่องข้อมูล และเรื่องความรู้สึก
ซึ่งนอกจาก 3 คำนี้ไม่เป็นประโยชน์กับการสนทนาแล้ว ยังจะทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเพราะเป็นคำที่ทำให้อารมณ์โกรธ ไม่พอใจทบทวีคูณเข้าไปอีก
5. ต้องมีพักยก
นักมวยยังพักยกได้ ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าควบคุมอารมณ์ไม่ได้แล้ว เราอาจจะบอกคู่สนทนาตรง ๆ เลยก็ได้ว่าตอนนี้ขอพักก่อน หรืออาจจะพักด้วยการหยุดฟังอีกฝั่ง ช่วงพักนอกจากจะเพื่อให้อารมณ์จางลง เราจะมีเวลาทบทวนตั้งหลักกันได้อีกสักนิด
6. อย่าค้างคา ถ้าจบได้ควรจบ
แต่ถ้าไม่จบก็ต้องรู้ว่าไม่จบเพราะอะไร เพราะเหนื่อยแล้ว เพราะคิดไม่ออก เดี๋ยวมาคุยต่อ เคล็ดลับคือใครจบก่อนคนนั้นชนะ
6 เรื่องนี้หากควบคุมได้ คุณจะอยู่ในประเด็น และโต้เถียงกันในเรื่องที่ค้างคาใจ ไม่ได้ทะเลาะกันที่ตัวตนของอีกฝ่าย
ถ้าทะเลาะเป็นแล้ว ยิ่งทะเลาะบ่อยๆ ทะเลาะให้เป็น จะทำให้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น คือเราได้รู้จักอีกฝ่ายในมุมที่เห็นไม่ตรงกัน ซึ่งดีกว่าการอยู่กันอย่างราบรื่น พอมีปัญหาเกิดขึ้นเราไม่รู้เลยว่าจะรับมือกับปัญหาต่าง ๆ และกลับมาสู่ภาวะปกติได้อย่างไร
ติดตามสาระการจัดการดี ๆ กับ The Organice Podcast ที่จะมาชวนคุณพูดคุยกัน ว่าด้วยเรื่องการจัดการตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ให้ชีวิตของคุณ Nice ขึ้นได้ทุกวัน อัพเดทกันได้ทุกวันศุกร์ที่ www.creativetalklive.com หรือ Subscribe กันได้ที่ CREATIVE TALK Podcast ในช่องทางที่คุณสะดวกกันได้เลย