Trending News

Subscribe Now

เรียนรู้จากก้าวเดินที่ผิดพลาดของสตาร์ทอัพ

เรียนรู้จากก้าวเดินที่ผิดพลาดของสตาร์ทอัพ

Article | Entrepreneur

เมื่อคราวที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่อง การพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการแบบสตาร์ทอัพไปแล้วนะคะ และอย่างที่เราได้ทิ้งท้ายกันเอาไว้ ว่าเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ บางครั้งก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่ข้างใน คล้ายโอริโอ้ที่มีไส้ให้เราต้อง บิด ชิมครีม จุ่มนม (ฮา)

แม้ว่าสตาร์ทอัพหลายแห่งจะเติบโตอย่างร้อนแรงมากมายอย่างที่เราได้คุยกันไว้ แต่ว่าที่จริงแล้ว กว่า 90% ของสตาร์ทอัพนั้นไม่ประสบความสำเร็จนะคะ บางเจ้าที่ได้ทำการ IPO ไป ก็ยังไม่ได้ผลตอบรับที่ดีอย่างที่คิด หรือว่าจะเป็นกรณีข่าวฉาวอันโด่งดังของ Theranos สตาร์ทอัพเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจเลือดของตัวเองจากที่บ้าน ผ่านเครื่องมืออันเล็กกะทัดรัด และรับทราบผลได้อย่างรวดเร็ว Theranos ระดมทุนไปกว่า 910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ​ (เกือบ 3000 ล้านบาท) และมีมูลค่าสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ​ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) แต่สุดท้ายเทคโนโลยีทั้งหมดไม่สามารถทำได้จริง ตอนนี้เลิกกิจการไปแล้ว พร้อมกับคดีความ การฟ้องร้อง และเงินที่เสียไปไม่น้อยเลยของนักลงทุน พร้อมไปด้วยความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้คนที่ได้ใช้บริการของ Theranos อีกด้วย 

อะไรกันที่ทำให้สตาร์ทอัพหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ? แล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากก้าวเดินที่ผิดพลาดของสตาร์ทอัพได้บ้าง ลองมาดูกันค่ะ 

1. เลือกเดินทางลัด

ไม่น่าแปลกใจที่สตาร์ทอัพหลายแห่งเลือกที่จะบุกเบิกทางลัดของตัวเอง แทนที่จะเดินตามแนวทางเดิม ๆ ของธุรกิจ ก็เพราะว่าโมเดลของสตาร์ทอัพต้องการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งาน จนเป็นที่ดึงดูดใจของนักลงทุนแทนการทำกำไร ไม่เหมือนกับธุรกิจทั่วไปแบบเดิมที่ยังไงก็ต้องมีกำไรเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ทำให้สตาร์ทอัพหลายที่เลือกจะโอ้อวดเทคโนโลยีจนเกินจริง ดำเนินธุรกิจโดยไม่สนใจกฏหมายของท้องถิ่น หรือว่าไม่รับผิดชอบกับผลกระทบในการใช้งาน การเดินทางสีเทา ๆ เป็นเหมือนการเดิมพันวัดใจว่าผลกระทบของเส้นทางนี้ กับความสำเร็จที่ตามหา อะไรจะเดินมาถึงก่อนกัน

แน่นอนว่าความเสี่ยงสูงอาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงไปด้วย แต่การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และเคารพต่อกฏหมายที่มีอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะสุดท้ายแล้วผลกระทบที่ตามมาก็อาจจะมากมายเกินรับไหวไม่ต่างจาก Theranos ก็ได้

ไม่ต่างจากชีวิตของเราเลยนะคะ ถ้าเราเลือกที่จะเดินทางลัดเพื่อความสำเร็จ โดยไม่สนใจถึงวิธีการ ยอมทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เลี่ยงโน่นนิดนี่หน่อย สุดท้ายแล้วเราก็คงหนีไม่พ้นกับการต้องมานั่งกังวลถึงผลที่ตามมาตลอด อีกทั้งผลสำเร็จที่เราคาดหวัง อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะคิดทำอะไร มาลองนั่งคิดกันดี ๆ ดีกว่านะคะ ว่ามันคุ้มค่ากับการเดินทางลัดไปรึเปล่า 

2. เอาเปรียบทีม

วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญของสตาร์ทอัพเกือบทุกแห่ง โต๊ะปิงปอง เครื่องทำกาแฟ หรือ Bean Bag ให้พนักงานนั่งทำงาน คงจะเป็นสิ่งที่เรานึกถึงพอมีการพูดคำว่าสตาร์ทอัพขึ้นมา แต่บ่อยครั้ง ที่วัฒนธรรมกลับกลายเป็นตัวบีบคั้นให้คนในองค์กรต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามไปกับเรื่องที่ไม่สมควรที่จะได้รับการยอมรับ เช่น เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น กลายเป็นยืดตลอดแบบไม่มีหยุ่น ลงเอยเป็นทำงานทั้งวันทั้งคืนอย่างไม่มีวันหยุดเพื่อที่จะแสดงว่าคุณทำงานเต็มที่ โดยไม่มีค่า OT ตอบแทน การพูดจาก้าวร้าวคุกคามเพื่อนร่วมงาน โดยอ้างว่าเป็นการเสนอความคิดเห็นแบบตรง ๆ อย่างกรณีที่ร่ำลือกันของ Uber  หรือการไม่มีสวัสดิการที่ควรมี เช่นประกันสุขภาพใด ๆ ให้เลย เพียงเพราะการมีเบียร์ฟรีดูคูลมากพอแล้ว

สุดท้ายแล้วทุกคนก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง หากคุณทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพียงเพื่อที่จะแสดงสปิริตว่าคุณได้งานอย่างเต็มที่เพื่อบริษ้ท หรือยอมอดทนกับวัฒนธรรมแย่ ๆ ขององค์กรมันก็คงน่าเศร้าถ้าคุณพลาดการใช้ชีวิตในมุมอื่น ๆ ไปนะคะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงอีกว่าสุดท้ายแล้วการทำงานหลายชั่วโมงไม่ได้เพิ่ม productivity ให้กับคุณและบริษัทเลยแม้แต่น้อยอีกด้วย

ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณจะอยู่ทำงานดึกดื่นเพียงเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง หรือเอาเวลาที่ใช้กับครอบครัว ไปทำงานที่คุณคิดว่าจำเป็นเหลือเกิน ลองทบทวนดูดี ๆ อีกทีนะคะ ว่าสิ่งที่คุณกำลังตัดสินใจเลือกอยู่ มันเป็นผลดีกับคุณ คนรอบตัวของคุณ​หรือแม้กระทั่งบริษัทของคุณจริง ๆ รึเปล่า เช่นเดียวกันในฐานะคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ลองใช้เวลาไปกับการบริหารงานให้ “แฟร์” กับคนในทีมดูค่ะ เช่น สวัสดิการที่เป็นความมั่นคงในชีวิตเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสุขภาพ อาจจะดีกับการจ่ายเงินไปเพื่อให้มีเบียร์และอาหารกลางวันฟรี หรือการให้ทีมของคุณมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันนะคะ

3. ไม่โฟกัส 

สตาร์ทอัพหลายที่ไม่สามารถเลือกโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ได้ แน่นอนว่าสิ่งล่อตาล่อใจในวงการมันมากมายเหลือเกินกว่าจะทนไหว Networking เราก็ต้องไป Blockchain ก็ต้องศึกษา ออฟฟิศสวย ๆ เราก็ต้องมี สวัสดิการดี เบียร์ฟรีก็ต้องทำให้พนักงาน ไปออกงานพูดบนเวทีก็ปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งงาน PR ออกสื่อนี่ใครจะไม่ทำ แต่บางครั้งสตาร์ทอัพก็ลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือผู้ใช้งานและ product ของเราเอง ดังนั้น resources ทั้งหมดที่เรามีควรจะถูกใช้ไปเพื่อเป้าหมายเดียวนั้น แทนที่จะใช้ไปกับสิ่งที่ดูหรูหราน่าตื่นตาตื่นใจอื่น ๆ 

สตาร์ทอัพที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่และไอเดียอันพุ่งพล่าน ย่อมมีสิ่งที่อยากทำมากมายเป็นเรื่องปกติ แต่คุณก็คงเคยได้ยินเรื่องกฏ 80/20 กันมาบ้างใช่ไหมคะ?​ เราสามารถเลือกทำ 20% ของงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์​ 80% ของทั้งหมดเลยทีเดียว เหลือแค่ให้เรามองออกให้ได้ว่า 20% ที่เราต้องทำจริง ๆ คืออะไร

Bandwidth ของคุณมีจำกัด และทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือเวลา แม้ว่า multi-tasking หรือการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ  จะสำคัญแค่ไหน ลองเลือกสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรืองานที่สำคัญที่สุดของคุณมาซักสองสามอย่าง แล้วลองโฟกัสกับสิ่งนั้นดูนะคะ การที่คุณให้เวลากับสิ่งสำคัญ​ คุณจะทำมันได้ดีกว่าการพยายามทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันแน่นอนค่ะ

สุดท้ายแล้ว สตาร์ทอัพไม่ใช่โมเดลสุดเจ๋งไร้ที่ติจากกระบี่ (เพราะกระบี่ไร้เทียมทาน?) ซึ่งก็ไม่ต่างจากบริษัทหรือบุคคลอื่น ๆ เลยค่ะ เราคงจะเห็นกันแล้วว่า ทุกเรื่องราวต่างก็มุมที่ดีและไม่ดี อาจจะขาวบ้าง ดำบ้าง หรือบางทีก็อาจจะเทา ๆ ให้เราได้คาดเดาแนวทางเอง แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ไม่ว่าชีวิตเรากำลังได้สัมผัสกับเรื่องอะไร ก็คือการนำสิ่งนั้นมาลองเรียนรู้และปรับใช้กับตัวเองค่ะ ถ้าคุณมีประสบการณ์กับการทำงานในสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะด้านที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่าลังเลที่จะมาแบ่งปันกันนะคะ 🙂

ภาพจาก Free-Photos, Pixabay

บทความโดย: คุณชลากร เบิร์ก
Product Owner at 30 Seconds to Fly

บทความที่เราแนะนำ

Related Articles

WISESIGHT ประกาศผลผู้ชนะเลิศ รางวัลแด่คนโซเชียลครั้งยิ่งใหญ่ จากงาน Thailand Zocial Awards 2020

ที่สุดรางวัลแด่คนโซเชียลครั้งยิ่งใหญ่ “ไวซ์ไซท์” (WISESIGHT) ประกาศผลผู้ชนะเลิศ เชิดชูแบรนด์ อินฟลูเอนเซอร์ และบุคคลในวงการบันเทิง ที่ทำผลงานได้ดีเยี่ยม ในงาน Thailand Zocial Awards 2020 ครั้งที่…

Article | Digital marketing
quis, massa Nullam pulvinar justo Lorem sed porta. neque. non nunc