เรื่อง: ดวงพร วิริยา
จบไปแล้วกับงาน Creative Talk Action 2019 สำหรับ Action #1 Opportunities from the Insights ในหัวข้อ Step by Step to Audience Insights Discovery บรรยายโดย คุณบี สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer ผู้ร่วมก่อตั้ง Rabbit’s Tale และเจ้าของเพจ สโรจขบคิดการตลาด
หัวข้อนี้ว่าด้วยเรื่องการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายในเชิงลึก หรือ Audience Insights เพื่อนำข้อมูลมาใช้สำหรับการสื่อสารทางการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น ภายในงานอัดแน่นด้วยเนื้อหาตั้งแต่กระบวนการคิด ขั้นตอนการทำ และการลงมือทำจริง ซึ่งบทความนี้ คุณบี ได้รวบรวมตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการทั้งหมดมาฝากกัน ที่สำคัญคือมีให้ทดลองใช้ฟรีด้วย ! ไปเริ่มกันเลย
1. เครื่องมือสำหรับสร้าง Persona
ในการหา Audience Insights หนึ่งในขั้นตอนที่มีความสำคัญนั่นคือ การทำ Persona เพื่อเก็บรวบรวมรายละเอียดต่างๆ ของลูกค้า ตั้งแต่ ชื่อ อายุ เพศ ที่อยู่ ไปจนถึงพฤติกรรมและความสนใจด้านต่าง ๆ ของกลุ่มเป้าหมาย ให้ออกมาในรูปแบบที่อ่านง่าย เพื่อให้มองเห็นภาพลูกค้าในฝันที่จะนำมาทำแคมเปญการตลาด
Xtensio
Xtensio (www.xtensio.com) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบเทมเพลต Persona มีหลากหลายดีไซน์ให้เลือกใช้ สามารถปรับแต่งหัวข้อและรูปแบบการแสดงผลได้ตามต้องการ มีให้ลองใช้ทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่าย
2. เครื่องมือสร้างแบบสอบถามออนไลน์
การเก็บรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายมีทั้งแบบออฟไลน์ เช่น แจกแบบสอบถาม, โทรถาม, สังเกตการณ์ ฯลฯ หรือจะเป็นช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งแบบสอบถามออนไลน์ ซึ่งตัวอย่างข้างล่างเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างแบบสอบถามออนไลน์ ทำให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
Google Form
Google Form (https://www.doc.google.com/forms) นับว่าเป็นเครื่องมือสร้างแบบสอบถามออนไลน์ที่ได้รับความนิยม เนื่องจากใช้ง่ายและฟรี มีเทมเพลตสำเร็จรูปให้เลือกใช้หรืออยากจะดีไซน์แบบขึ้นมาเองก็ได้ ที่สำคัญคือออกแบบเสร็จแล้วสามารถกดส่งอีเมลให้คนที่ต้องการสอบถามได้ทันที สะดวกสบายสุด ๆ
SurveyMonkey
SurveyMonkey (www.surveymonkey.com) จุดเด่นของ SurveyMonkey คือ ขั้นตอนการสร้างแบบสอบถามออนไลน์ที่ละเอียดอย่างมาก มีแถบสำหรับดูตัวอย่างที่เสร็จแล้ว เพื่อทดสอบตอบคำถามก่อนนำไปใช้จริง และเมื่อมีการส่งคำตอบกลับมา ระบบจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเก็บรวบรวมไว้ พร้อมวิเคราะห์ผลคำตอบทั้งหมดออกมาในรูปแบบสถิติและแผนภูมิให้อีกด้วย เรียกได้ว่าละเอียดและสะดวกสบายกับเรามากทีเดียว ซึ่งก็มีให้ใช้ทั้งแบบฟรีและเสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
Hotjar
Hotjar (www.hotjar.com) แบบสอบถามแบบ Feedback Poll ซึ่งเมื่อมีผู้ใช้เข้ามาในเว็บไซต์ไม่ว่าจะบน Desktop หรือ Mobile ก็จะมี Pop-up ขึ้นมาให้กดตอบคำถาม ส่วนใหญ่จะเป็นคำถามสั้น ๆ ไม่กี่ข้อ คำตอบทั้งหมดที่ถูกส่งมาจะถูกเก็บไว้ในระบบและแสดงผลออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ให้เรียบร้อย
3. เครื่องมือวิเคราะห์บทสัมภาษณ์
ปัญหาของการสำรวจด้วยการใช้การสัมภาษณ์ คือ เราไม่สามารถนำข้อมูลมาวัดทางสถิติได้ สิ่งที่ทำได้คือนำเนื้อความที่ได้จากการสัมภาษณ์มาอ่านจับประเด็นเพื่อวิเคราะห์ทางพฤติกรรมและความสนใจของแต่ละบุคคล โดยเครื่องมือนี้จะช่วยวิเคราะห์บทสัมภาษณ์ให้เห็นประเด็นที่ผู้ถูกถามต้องการสื่อได้ชัดเจนมากขึ้น
Word Cloud
Word Cloud (www.jasondavies.com/wordcloud) เป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยในการวิเคราะห์ถอดบทสัมภาษณ์จากบทความยาว ๆ ให้กลายเป็นกลุ่มคำ คำไหนที่มีการพูดถึงอยู่ในบทสัมภาษณ์บ่อย ๆ ก็จะแสดงผลเป็นคำที่ใหญ่และเด่น พอให้สรุปได้ว่าคน ๆ นั้นมีความสนใจหรือกังวลเกี่ยวกับประเด็นใดมากน้อยแค่ไหน หรือต้องการเน้นย้ำสิ่งใดเป็นพิเศษ
4. เครื่องมือดูเทรนด์บนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์
เมื่อการตลาดต้องใช้คอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับคนดู หากเรารู้ว่าตอนนี้คนกำลังสนใจอะไร อะไรที่กำลังถูกพูดถึงเป็นประเด็นฮอตฮิตอยู่ในตอนนี้ รวมทั้งเขากำลังพูดถึงเราอย่างไรบ้าง จึงมีความสำคัญเพื่อนำมาปรับปรุงการทำคอนเทนต์ให้ดีขึ้น โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยในการสอดส่องประเด็นและเทรนด์ต่าง ๆ ในกระแสโลกออนไลน์ให้เราได้ทราบกันแบบเรียลไทม์เลยทีเดียว
Wisesight Trend
Wisesight Trend (www.trend.wisesight.com) คือ เครื่องมือสำหรับดูเทรนด์คอนเทนต์หรือประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงอยู่บนโลกออนไลน์แบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, Instagram, Youtube, Blog, Webboard และ เว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ แสดง Top Content, Top Hashtag และ Trending ประเด็นฮอตฮิต
Zanroo Search
Zanroo Search (www.zanroo.com) เครื่องมือที่ใช้สำหรับดูคอนเทนต์แบบเรียลไทม์เช่นกัน แต่จุดที่ต่างออกไปของ Zanroo Search คือ จะแสดงคำที่ถูกใช้บนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียมากที่สุดและนำไปจัดเป็นเทรนด์ ซึ่งบางคำอาจจะไม่สื่อความหมายได้ว่าเป็นอะไร เช่นคำว่า “เริ่มแล้ว” ที่ถูกใช้กับโพสต์โปรโมทสินค้าหรืองานอีเวนต์ ดังนั้น เครื่องมือนี้เหมาะอย่างมากสำหรับการใช้ดูเนื้อหาที่คนกำลังพูดถึงแบรนด์ของเราอยู่บนโลกออนไลน์ เพียงแค่ใส่เครื่องหมายคำพูด (“….”) ในชื่อแบรนด์ แล้วเลือกสถานที่ด้านล่างให้เป็น Thailand เท่านี้ก็จะเห็นได้เลยว่ามีใครกำลังพูดถึงเราอยู่บ้าง
เรียกได้ว่าอัดแน่นกับเครื่องมือดี ๆ ที่นำมาใช้ในการหา Audience Insights สามารถช่วยทุ่นแรงเราได้เยอะมาก ๆ ต้องขอขอบคุณวิทยากรของเรา คุณบี สโรจ เลาหศิริ ที่มาให้ความรู้เราในครั้งนี้ ทั้งเนื้อหา ทฤษฎีและเวิร์กชอปเข้มข้นมากจริงๆ ค่ะ
สำหรับใครพลาดงานครั้งนี้ไม่ต้องเสียใจไป Creative Talk เรามีคลาสเรียนและกิจกรรมดี ๆ แบบนี้อย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามอัปเดตกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์ Creative Talk Live หรือเฟซบุ๊กเพจ Creative Talk Live แล้วเจอกันนะคะ
บทความที่เราแนะนำ