ในการทำงานหลายคนอาจรู้สึกว่า โปรแกรมเมอร์เป็นกลุ่มคนที่คุยด้วยยาก เข้าใจยาก วันนี้เราเลยรวบรวมทริกจาก Insight ประกอบกับหาข้อมูลเพิ่มเติมออกมาได้เป็น 6 เรื่องที่ต้องเข้าใจก่อนจะเริ่มคุยกับโปรแกรมเมอร์ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1. โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่พนักงานซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยตำแหน่งของโปรแกรมเมอร์คือเป็นคนเขียนโปรแกรม แต่พอเวลาคอมพิวเตอร์เสีย คนก็มักจะยกไปหาโปรแกรมเมอร์ ซึ่งบางท่านจบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์หรือมีความเข้าใจเรื่องฮาร์ดแวร์ก็อาจจะช่วยดูให้ได้ แต่โปรแกรมเมอร์บางท่านไม่สามารถซ่อมได้ เพราะเป็นสายเขียนโปรแกรมอย่างเดียว หนักกว่าคอมพิวเตอร์คือบางครั้งโปรแกรมเมอร์มักถูกเรียกไปซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันกับสิ่งที่เขาทำเลย
2. โปรแกรมเมอร์มีทั้งสายบู๊และสายบุ๋น
สายบู๊จะเป็นคนชอบลงมือทำ เขาจะชอบเวลาคุณทำ Requirement แบบละเอียด ๆ เขาพร้อมที่จะหาข้อมูลทดลองโค้ดใหม่ๆ หรือโค้ดที่จะทรงประสิทธิภาพสูงสุดกับความต้องการของคุณ เป็นสายพูดน้อยกว่าทำ ในขณะที่สายบุ๋นจะชอบวางแผนก่อนลงมือทำ เขาจะอยากรู้รายละเอียดความคาดหวังจากทั้งผู้ใช้งานและจากเจ้าของโปรแกรมอ ยากรู้ว่าโปรแกรมจะช่วยเหลือธุรกิจในด้านใดเพื่อช่วยคุณวางแผน
ดังนั้นต้องจับทางเขาให้ได้ว่าเขาเป็นโปรแกรมเมอร์สายไหน แล้วเตรียมข้อมูลไปคุยกับเขาให้ตรงกับความถนัดที่เขามี
3. โปรแกรมเมอร์ต้องการสมาธิ
โปรแกรมเมอร์จะไม่ชอบถูกรบกวนระหว่างทำงาน เพราะบางทีเขากำลังคิดฟีเจอร์ หรือ Input ข้อมูลบางอย่างอยู่และเวลาเขาคิด เขาจะคิดเป็นกระบวนร้อยเรียงสิ่งต่าง ๆ ต่อกัน พอคุณไปขัดจังหวะเขา บางทีอาจต้องเริ่มใหม่
นอกจากนี้เขาจะไม่ชอบให้ไปนั่งประกบ แม้ว่าจะเป็นการประกบเพราะอยากช่วยอธิบายงานก็ตาม เพราะเขาจะรู้สึกอึดอัด รู้สึกเหมือนโดนควบคุม บางทีเขาอยากเข้า Google เพื่อหาข้อมูลเขาก็อาจจะกลัวว่าคุณจะมองว่าเขาไม่มีความรู้พอ ดังนั้น คุณควรจะให้พื้นที่แก่โปรแกรมเมอร์เวลาที่เขาต้องการสมาธิ
4. โปรแกรมเมอร์ชอบแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่ทุกคน
โปรแกรมเมอร์บางคนไม่สามารถหา bug เจอ ไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่ง แต่เพราะเขาอยู่กับงานนั้นมานาน เหมือนเวลาที่คุณจมอยู่กับปัญหาของตัวเองก็มักจะหาทางออกไม่เจอ ดังนั้นหากโปรแกรมเมอร์หา bug ไม่เจอ ไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ คุณอาจจะต้องช่วยเขาหรือหาโปรแกรมเมอร์คนอื่นช่วยรีวิวโค้ดเขา เพื่อจะได้ช่วยกันหาปัญหาในจุดที่นึกไม่ถึง แล้วก็ต้องบอกให้เขาเปิดใจให้คนอื่นมารีวิวงานหรือหา bug เพื่อ ช่วยให้แก้ปัญหาได้ด้วย
5. เขาไม่ชอบความซับซ้อน
หลานคนอาจจะเข้าใจว่าโปรแกรมเมอร์ดูเป็นคนชอบทำอะไรให้ซับซ้อน แต่ความจริงไม่ใช่เลย เพราะเขาอยู่กับความซับซ้อนมาทั้งวันแล้ว ดังนั้นเขาจะไม่ชอบเรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องคน 80% ของโปรแกรมเมอร์จะพูดว่าไม่ชอบยุ่งกับคน ไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าสังคม แต่เขาจะรู้สึกว่าคนแต่ละคนมีการตอบสนองที่แตกต่างกันและคาดเดาไม่ได้ ไม่เหมือนโปรแกรมที่เป็นไปตามการคาดเดา อะไรที่เกี่ยวกับคน เช่น การดีลกับลูกค้าดีลกับพาร์ทเนอร์ เขาจะไม่ชอบนัก ดังนั้นให้คุณเลี่ยงที่จะพาเขาไปอยู่ในที่ที่เขาไม่ถนัด และให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขาทำได้ดีกว่า
6. โปรแกรมเมอร์เป็นคนใจอ่อน
เป็นเรื่องที่ค้นพบว่า เมื่อไรก็ตามที่พาโปรแกรมเมอร์ไปรับ Requirement กับลูกค้า โปรแกรมเมอร์จะชอบบอกว่าทำได้ หรือจะไปลองทำให้ เพราะเขาเป็นคนชอบแก้ปัญหา เขามองว่ามันท้าทายที่จะหาความเป็นไปได้ แต่การรับปากของเขาอาจจะทำให้ลูกค้าสับสนว่าจะทำให้เลยหรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องยืดระยะเวลาการทำใช่ไหม ดังนั้นหากมีสถานการณ์ที่โปรแกรมเมอร์ต้องไปเจอกับลูกค้าก็ขอให้คุณคุยกับเขาให้ดีก่อนว่าอย่าเพิ่งรับปากว่าจะทำอะไรทันที ให้รับฟังและกลับไปวางแผนกันอีกที
เมื่อเข้าใจ 6 ข้อข้างต้นแล้ว เรามีวิธีเตรียมตัวหากจะต้องคุยกับโปรแกรมเมอร์จะต้องเตรียมอะไรไปบ้างมาให้ดูกันค่ะ
- บอกปัญหาและความคาดหวังของคุณ โดยไม่ต้องบอกวิธีทำ เพราะนั่นเป็นการก้าวก่ายงานของเขา เขาจะมองว่าคุณเห็นเขาเป็นแค่มือที่จะทำงานให้คุณเท่านั้น
- บอกระยะเวลาที่คุณต้องการ แต่ก็ต้องรับฟังระยะเวลาที่เขาต้องการด้วย หลายครั้งคุณเห็นว่ามันขยับเพียงเล็กน้อย หรือเพิ่มอีกจุดเดียวใช้เวลาไม่นานหรอกแต่ความจริงเบื้องหลังการขยับนิดเดียวนั้น คุณไม่รู้เลยว่าเขาไปผูกโค้ดไว้กี่ Database ดังนั้นคุณต้องรับฟังเวลาที่เขาต้องการด้วย
- เมื่อเขาพูดแล้วมีคำที่คุณไม่เข้าใจมากกว่า 1 คำ ให้บอก บางครั้งเขาจะมีศัพท์ที่ใช้เป็นปกติทุกวัน แต่คุณไม่เข้าใจให้ถามเขาไปตรง ๆ เลยว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร เขาก็จะรับรู้ได้ว่าคุณมีความเข้าใจศัพท์เทคนิคในระดับใด และหลีกเลี่ยงคำเหล่านั้นไปเอง
- เคารพ และรับฟัง เป็นเรื่องสำคัญเลย คุณต้องไม่คิดว่าเขาเขียนโปรแกรมได้อย่างเดียว อย่าคิดว่าเขาพูดภาษามนุษย์ต่างดาวและเป็นมนุษย์ต่างดาวที่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ต้องเคารพและรับฟังเขาด้วย
ครบถ้วนแล้วสำหรับเคล็ดลับ 6 เรื่องที่คุณต้องเข้าใจก่อนพูดคุยกับโปรแกรมเมอร์ ลองเอาไปปรับใช้กันดูและหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเข้าใจคนที่ทำงานด้านนี้มากขึ้นนะคะ
ถอดความจาก: The Organice Podcast โดยคุณโจ้ ฉวีวรรณ คงโชคสมัย
บทความที่เราแนะนำ