Trending News

Subscribe Now

อ่าน ฟัง ดู อะไรดีในช่วงนี้กับสปีกเกอร์ CTC2020

อ่าน ฟัง ดู อะไรดีในช่วงนี้กับสปีกเกอร์ CTC2020

Article | Creative/Design

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน Co-Founder Glow Story and Curator at TEDxBangkok 
ซีรีส์ Itaewon Class, หนังสือ The Effective Executive แปลไทยโดยสำนักพิมพ์ ยูบีซีแอล บุ๊คส์, บจก. 
*บทความด้านล่างนี้มีการเล่าถึงเนื้อหาสำคัญของซีรีส์*

ตอบแบบไม่เท่เลยนะ ช่วงเราติดซีรีส์ Itaewon Class เพิ่งดูจบไปเมื่อคืนนี้เอง ตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นซีรีส์เกาหลี รักการทำอาหาร แต่พอดูไปแล้วหัวใจของเรื่องนี้คือ ปรัชญาการทำธุรกิจ แนวคิดในการบริหารทีมและคน ตอนเราดูก็สงสัยว่าประธานชางแดฮี เขาเป็นผู้บริหารที่เก่งมาก ขณะเดียวกันพัคแซรอยก็เก่งมากเข่นกัน แต่ท้ายสุดแล้วชางกาก็ล่มสลาย ความน่าสนใจ คือ สองคนนี้มีความเก่งทั้งคู่แต่วิธีการบริหารคนละสไตล์ ทำไมฝ่ายหนึ่งถึงแพ้ชนะ เพราะนิสัยเราเองก็เหมือนประธานชางแดฮีพอสมควร คือ เป็นคนเด็ดขาด ชอบฟัน มั่นใจว่าฉันเก่ง ว่ากันง่ายๆ คือเป็นคนมีอีโก้ แต่พอดูจบแล้วเราก็นึกถึงหนังสือที่ชื่อว่า The Effective Execcutive 

แท็กไลน์ของหนังสือ The Effective Executive  คือ การทำสิ่งที่ถูกต้องให้สำเร็จ ซึ่งคนเขียนเป็นปรมาจารย์ด้านการ Management ในยุคเลยก็คือ Peter F Drucker หลายคนอาจจะได้ยิน Drucker จากหนังสือในหลายๆ เล่ม แล้วเล่มนี้ก็เป็นท็อปฮิตของเขา เพราะว่าเรายังมีความเป็นสายอาร์ตและมีความเป็นแอคทิวิสต์ แต่พอเรามาเปิดบริษัทของตัวเองเราก็ต้องฝึกบริหารคนด้วย ซึ่งตอนแรกก็ห่วยแตกเละเทะ เป็นด้านที่ไม่ดี ซึ่งก็เคยเป็นหัวหน้าที่ห่วยมากๆ มาก่อน ก็มีหลายที่เรารู้สึกว่าในชีวิตมหาลัย หรือว่าถ้าเราไม่ได้ลองมาเป็นเจ้าของบริษัทเองมันนึกไม่ออกเลยว่าสกิลพวกนี้มันสำคัญ 

หลังจากที่ดูซีรีส์เรื่องนี้เราอยู่ในหัวด้วยแล้วก็นั่งเปิด ไล่อ่านหนังสือของดรักเกอร์เล่มนี้ ซึ่งเนื้อหามันก็มีหลายเรื่องเลยนะ ไล่ตั้งแต่การบริหารจัดการเวลา ความละเอียดอ่อนต่องาน (Delicate) ที่อยากเล่าให้ฟังน่าจะเป็นอินโทร คือ 8 พฤติกรรม หรือว่าเป็นกิจวัตรประจำวันของ Good Executive เรารู้สึกว่าโดนตั้งแต่ชื่อและอินโทรของหนังสือเล่ม แล้วก็รู้สึกว่าสังคมไทยจะให้ค่านิยมกับคนขยัน อดทน คนดีอะไรประมาณนี้ อย่างจุดที่เราเลือกผู้นำกัน ผู้นำคนปัจจุบันบางคนอาจมองว่าเขาขยัน มีความอดทนโดนคนด่า และอาจเป็นคนดีในบางคุณค่า ในบางจริยธรรมของคนบางกลุ่ม แต่เรารู้สึกว่าหน้าที่ของผู้บริหารไม่ใช่คนอดทน คนดี คนขยัน แต่คือคนที่มีประสิทธิภาพ (effective)  สร้างผลงานให้ประจักษ์ออกมาเป็นผลได้ ถ้าบริษัท หน้าที่ของคุณคือการทำอาหารให้อร่อยเหมือนชางกา แต่ประธานชางเขาก็มีประสิทธิภาพมากเลยที่ใครกินอาหารเขาก็รู้สึกว่าอร่อย ร้านนี้เด็ดมาก ยังเป็นอันดับ 1 ในอีแทวอน แต่ในขณะเดียวกันผู้นำบางคนที่ไม่ได้สร้างผลงานพูดหรือว่ามาอดทนให้เราดูเป็นเรียลลิตี้โชว์ไปเรื่อยๆ ผู้นำแบบนี้ไม่มีประสิทธิภาพ คำถามคือถ้าเราเองเป็นแบบนั้น ในโหมดของประชาชนเรา อยากก็ได้คนที่มีประสิทธิภาพมาสร้างงานให้เรา เอาเงินภาษีของเราทำให้เกิดงาน นอกจากผู้นำต้องมีประสิทธิภาพแล้วควรจะมีอะไรอีกบ้าง เราหยิบบางข้อของอินโทรเล่มนี้ที่เราเอามาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับซีรีส์ Itaewon Class กัน

They took responsibility for decisions – ตอนที่พัคแซรอยตัดสินใจทำแฟรนไชส์แล้วมีคนลงทุนหลักตัดสินใจไม่ลงทุน พัคแซรอยก็คิดหาวิธีรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ถือโทษอีซอซึ่งเป็นเจ้าของไอเดียและลูกน้องในทีม

They were focused on opportunities rather than problems – ทั้งประธานชางแดฮีและพัคแซรอย มีความแค้นเหมือนกัน แต่แซรอยคอยมองหาโอกาสใหม่ๆ มากกว่าอย่างการเปิดแฟรนไชส์ กลับกันประธานชางแดฮีโฟกัสแต่เด็กหนุ่มที่ทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ คอยบี้ปิดทาง ข้อนี้กลับไปตอบคำถามที่ว่าชางแดฮีกับพัคแซรอยทำไมฝ่ายถึงแพ้หรือชนะเลย เพราะการเลือกใช้เวลาต่างกัน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดตัดแรกที่ทำให้กระดุมของ 2 คนมันติด ไปในคนละทิศคนละทางเลย 

และข้อสุดท้าย They ran productive meetings – สังเกตว่าฉากทั้งสองคนเวลาประชุมแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ฝั่งประธานจะเป็นโต๊ะยาว นั่งเรียงกัน ผู้บริหารอยู่หัวโต๊ะ นั่นหมายถึงอำนาจต่างๆ ด้วย มีฉากที่เขาตบหน้าลูกชายตัวเอง นั่นยิ่งทำให้คนที่อยากแสดงความคิดเห็น เสนอไอเดียก็ไม่กล้าพูดออกมา แต่ของพัคแซรอย คือการเอาโต๊ะลูกค้ามาต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่เข้ามาใหม่หรือเด็กกว่าก็สามารถเสนอไอเดียได้ ทำให้ทันบัมมีไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ 

ในช่วงวิกฤตแบบนี้ แต่ละองค์กรผลลัพธ์ออกมาต่างกัน ถ้าเราดูผู้นำข้างนอกผิวเผินก็เก่งเหมือนกันหมด แต่ทำไมมันถึงออกมาต่างกัน ทั้งซีรีส์และหนังสือเล่มนี้ทำให้เรากลับมาวิเคราะห์ละคร วิเคราะห์สถานการณ์ช่วงนี้ วิเคราะห์ผู้นำในบ้านเมืองรวมถึง วิเคราะห์ตัวเราเองด้วยนะว่าสุดท้ายแล้วอยากเป็นผู้นำแบบไหน  

______________________________________________________________________________

สันติ ลอรัชวี Co-Founder Practical Design Studio
หนังสือ ก้าวเดิน (Walking) สำนักพิมพ์ OMG BOOKS 

หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับ Erling Kagge เขาเป็นชาวนอร์เวย์ ผมพูดถึงนักเขียนก่อน ฮักเก้เป็นคนนอร์เวย์เป็นนักสำรวจ เป็นนักเดินเท้า ในประวัติเขาเดินเท้า 800 ไมล์ไปขั้วโลกใต้ลำพัง แล้วก็เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เดินไปทั้งขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ และยังเดินไปบนเทือกเขาเอฟเวอเรสท์ เขาเป็นทั้งนักกฎหมาย เจ้าของสำนักพิมพ์ นักสะสมงานศิลปะ และนายแบบนาฬิกา Rolex ด้วย

ผลงานเล่มนี้เป็นเล่มล่าสุด Walking ก็ตามชื่อเลยครับ ทั้งหมดทั้งมวลของหนังสือพูดถึงเรื่องการเดิน เขียนมาจากประสบการณ์ในการเดิน การเห็นรู้สึก ได้ยินมา รวมถึงบทความอื่นๆ ของเขา มาร้อยเรียงอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นมุมมองเกี่ยวกับเสน่ห์หรือว่า ประโยชน์ของการเดินในมิติต่างๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิทยา 

เป็นหนังสือที่ให้มุมมองหลายๆ เรื่อง เรียกว่าให้พลังงานที่ดี เป็นพลังงานบวก บางครั้งเขาก็จะพูดถึงเรื่องความเร็ว เพราะว่าการเดินเนี่ยมันเป็นอะไรที่สวนทาง กับความเร็วในปัจจุบันนะที่ว่า เราเร่งรีบกัน มีทางรถไฟฟ้า มีทั้งเครื่องบิน มีทั้งรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งทำให้เวลาของเราสูญเสียไป เรามองว่า ถ้าเราเร็วเราจะได้เวลากลับมา แต่ฮักเก้ก็มองว่าความเร็ว เป็นศัตรูของความทรงจำ เพราะว่าการก่อกำเนิดของความทรงจำได้ หรือการมีความทรงจำต้องใช้เวลา ใช้ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญตัวเรากับสิ่งนั้นถึงจะเกิดความทรงจำได้ แต่พอเวลามันหดสั้นลง เช่น ถ้าเราขับรถจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เราจะจำอะไรไม่ได้ระหว่างทาง กระทั่งการสร้างความผูกพันหรือมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาเพราะมันเร็วเกินไป 

ประโยคของหนังสือเล่มนี้ที่ผมอยากฝากที่คิดว่าน่าสนใจ พวกเราเรียกตัวเองว่า Homo sapiens แปลว่ารู้หรือว่าฉลาดหลักแหลม ซึ่งเขาก็จะมองว่าโฮโมเซเปียนส์มันดูไม่เคลื่อนไหว มันดูเรารู้แล้ว เราเหนือกว่าแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ฮักเก้เขาบอกว่า เราน่าจะเรียกตัวเองว่า Homo erectus ซึ่งจะตรงข้ามกับ Homo sapiens ก็คือว่าเรายังไม่รู้ เป็นสิ่งมีชีวิตหรือเผ่าพันธุ์ที่อยู่กับความไม่รู้ ในการไม่รู้นี่แหละจะทำให้เราเปิดกว้าง แสดงถึงการเป็นผู้แสวงหาความรู้อยู่เสมอ ในขณะที่ Homo sapiens คือเรารู้แล้ว เราจะอยู่นิ่งซึ่งมันไม่ค่อยสัมพันธ์กับลักษณะของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นมุมของนักเขียนที่แบบ น่ารักแล้วก็น่าคิดนะครับ

______________________________________________________________________________

ฉวีวรรณ คงโชคสมัย Managing Director at rgb72
หนังสือ หลับตาดูหนัง สำนักพิมพ์ happening,
youtube.com/watch?v=BeJwdUwLLi8

หนังสือเล่มนี้ได้มาโดยบังเอิญ จากการที่เราไปรื้อกองหนังสือของพี่เก่ง RGB72 ซึ่งพี่เก่งอ่านจบนานแล้ว 

เราสะดุดตาจากหน้าปก พอเห็นชื่อหนังสือ หลับตาดูหนัง ก็ทำตามชื่อหนังสือเลย คือเราลองหลับตาแล้วเดาว่าเราจะดูหนังได้ยังไงซึ่งก็มีคำตอบให้ตัวเองว่า ฟังสิ จากนั้นพี่ก็เปิดหนังสือทำให้พบว่ามันเกี่ยวกับการพูดถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ แบบที่ทำให้เราได้รู้ที่มาของบทเพลง และเกร็ดชีวิตของนักทำเพลงประกอบภาพยนตร์

หลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราไปหาซาวนด์แทร็กมาฟังเยอะมากๆ รวมถึงไปหาหนังมาดูเพิ่มด้วย

บทที่ชอบที่สุดคือ คนที่ทำให้เราเจ็บปวดได้มากที่สุด บทนี้พูดถึง Damien Rice ซึ่งแต่งเพลงประกอบหนัง Closer เพลงนี้เป็น opening scence ที่นาตาลีเดินข้ามถนน ภาพก็เหงา เพลงก็เหงา แล้วเพลงนี้เป็นเพลงที่เปิดต้นเรื่องและปิดตอนจบ ตอนต้นเรื่อง นาตาลีผมสั้นเปรี้ยว เดินเดี่ยวๆ ความเหงาต่างๆ เกิดจากความว่างเปล่าของตัวเอง แต่ตอนจบนาตาลีคนเดิมแต่โตขึ้น ความเหงาต่างๆ ในวันนั้น กลับเกิดขึ้นจากการที่พยายามหาคนมาใกล้ชิด แต่แล้วก็กลับพบกับความว่างเปล่าเช่นกัน คำถามคือความเหงา ความว่างเปล่าตอนเราอยู่คนเดียว กับความเหงาที่พบว่าความว่างเปล่าแม้จะมีคนพยายามมาใกล้ชิด ก็เติมช่องว่างนั้นไม่ได้ ระหว่างความเหงาสองแบบนี้ อะไรที่เหงากว่ากัน  

สรุปแล้วที่แนะนำเล่มนี้ เพราะนอกจากจะอ่านหนังสือแล้ว เราได้เพลย์ลิสต์เพลงเพิ่มแถมยังได้ไปค้นหนังเพิ่มอีกต่างหาก

______________________________________________________________________________

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ Founder and Creator of ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
Why good leaders make you feel safe | Simon Sinek , Ted Talk
youtube.com/watch?v=lmyZMtPVodo&feature=youtu.be
youtube.com/watch?v=BQOSiqJdPNY

ในแต่ละวันเราได้รับข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับโควิด-19 กันถล่มทลายมากไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เราจะเติมตอนนี้มี 3 มุมด้วยกันและไม่ได้มุ่งตรงไปที่เรื่องของโควิด-19 อย่างเดียว 

มุมที่ 1 มุมทำงาน : เราไปดูหรือฟังคลิปที่เกี่ยวกับการปรับตัว การจัดการขององค์กรว่าผู้นำเขาทำยังไงกันบ้าง ในภาวะวิกฤตแบบนี้ ซึ่งเป็นคลิปเมื่อ 4 ปีที่แล้วของ Simon Sinek ที่ชื่อว่า Why good leaders make you feel safe ของเวที Ted Talk เขาเล่าว่า ในสงครามที่อัฟกานิสถาน มีเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเขามีทหารได้รับบาดเจ็บต้องการได้รับความช่วยเหลือให้ออกจากบริเวณนั้น ปรากฏว่ามีภาพจากกล้องบนหัวของทหารนายหนึ่งที่ฉายภาพทหารคนหนึ่งวิ่งไปลาก แบก ทหารคนอื่นๆ มาในที่ปลอดภัยแล้วก็จูบที่หน้าผาก กอดทหารที่เขาช่วยมา 

หลังจากนั้นเขาก็ไปช่วยแต่ละคนต่อ ตอนแรกไซม่อนเขาก็คิดว่าเพราะทหารคนนี้เป็นคนดีกว่าคนอื่นๆ เลยช่วยเหลือเพื่อนคนอื่น แต่พอไปสัมภาษณ์ทหารนายนั้น เขากลับตอบว่าถ้าเป็นคนอื่นตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขาก็คงทำแบบนี้เหมือนกัน นั่นกลายเป็นว่าไซม่อนได้ฉุกคิดว่า ไม่ใช่แค่เรื่องความดีของแต่ละบุคคลแล้วแต่เป็นเรื่องที่ว่าทำยังไงให้สิ่งแวดล้อมสร้างคนแบบนี้ได้ เขาก็ไปค้นพบว่า องค์กรเองต้องทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย มั่นคงได้เปล่งประกายประสิทธิภาพของเขา พอพนักงานรับรู้ความรู้สึกเหล่านั้นเขาจะสะท้อนกลับมายังองค์กรด้วยการทำงานที่ดีอย่างเต็มที่ 

มุมที่ 2 จิตใจ : มุมนี้ไม่ได้เกี่ยวกับโควิดใดๆ แต่เราอยากแนะนำให้ทุกคนลองไปฟังดู คือ กลุ่มสัมภาษณ์ของ Oprah Winfrey ที่เรียกว่า Vision Tour Visionaries โดยเขาจะตระเวนไปที่เมืองต่างๆ แล้วสัมภาษณ์คนดังๆ ถึงมุมมองการใช้ชีวิตอย่าง Jennifer Lopez, Barack Obama และคนที่แนะนำให้ฟังเลย คือ Michelle Obama โดยส่วนตัวแล้วเวลามิเชลพูดอะไรออกมา เรารู้สึกว่าเขาฉลาดแทบทุกอย่างแล้วก็เป็นมนุษย์พลังบวก  อย่างคลิปที่สัมภาษณ์กับโอบามา เขาไม่ได้เล่าถึงการบริหารบ้านเมืองนะ แต่เป็นชีวิตหลังออกจากธรรมเนียบขาวมาว่าชีวิตเขาเป็นยังไงบ้าง เจออะไรมาบ้างอะไร แล้วตัวเขาเองก็ยังคงทำงานเพื่อส่วนรวมอยู่ ประเด็นที่เราชอบในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ คือ การเห็นคุณค่าในตัวเองซึ่งบทสนทนาขณะนั้นพูดถึงเรื่องการยอมรับความเปลี่ยนแปลง โอปราห์ถามมิเชลว่า คุณรู้สึกพอใจกับสุขภาพร่างกายของคุณเรื่องไหนมากที่สุด  มิเชลตอบว่าฉันยังคง walk my own walk ในตอนนี้มิเชลอายุห้าสิบกว่าแล้ว เขาก็ยอมรับว่ายังไงเขาก็ไม่สามารถที่จะเป็นเหมือนคนอายุสามสิบกว่าได้ แม้กระทั่งตัวเขาเองตอนอายุสามสิบก็เป็นไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงหมดแต่ตัวเราและบางทีเราก็ยอมให้คนอื่นมาตัดสินtชีวิตแทนเราว่า เราอายุห้าสิบแล้ว ทำไมเราไม่กระฉับกระเฉง แต่จริงๆ แล้วร่างกายเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ตัวเราเติบโตอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นสิ่งที่มิเชลบอกเรา คือ เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงและหา your own walk ให้ได้ 

มุมที่ 3 Positive Message : เราไปอ่านข่าวเด็กผู้หญิงอังกฤษวัย 16 ปี คนหนึ่งที่คอยเขียนข้อความให้กำลังใจ ปลุกใจลงแผ่นป้ายแล้วเอาไปแขวนตามทางเดินบนสะพานที่คนมักไปฆ่าตัวตายกัน และสิ่งที่เกิดขึ้น คือ ข้อความเหล่านั้นสามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ ข่าวนี้ทำให้เราย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ในฐานะที่เราเป็น Communicater หรือการทำเพจเองก็ตาม เราได้เขียนอะไรบางอย่างในโซเชียลที่ช่วยให้คนมีชีวิตดีขึ้นเหมือน เหมือนกับที่เด็กผู้หญิงคนนั้นแขวนป้ายบนสะพานไหม 

______________________________________________________________________________

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-Founder and CEO at Priceza 
หนังสือ Principles for Success และ It’s Not How Good You Are, It’s How Good You Want to Be 

ผมตั้งเป้าไว้ว่าพอดแคสต์ที่ทำอยู่จะมีตอนใหม่ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ผมต้องหาความรู้ใหม่ๆ จากการอ่านหนังสือ คอนเทนต์ รีพอร์ตต่างๆ มาแบ่งปันในพอดแคสต์ Start With Wai เล่าความรู้ที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ หรือคนที่สนใจทำธุรกิจ ซึ่งก็เหมาะกับช่วงนี้ที่หลายคนอยากหารายได้เสริมครับ

ไม่นานมานี้ผมอ่านหนังสือภาพของ Ray Dalio ชื่อว่า Principles for Success รวบรวมแก่นความคิดของเล่ม Principle ออกมาอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นภาษาอังกฤษก็จริงแต่ด้วยความเป็นหนังสือภาพ บทที่ผมประทับใจจากหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องบทเรียนชีวิตครับ เขาจะบอกว่า ถ้าเราตั้งเป้าหมายของชีวิตว่าเราจะบรรลุฝันที่ยิ่งใหญ่แน่นอนว่า คุณต้องเจอกับอุปสรรคแต่เวลาที่เราไปเจออุปสรรคแล้วเนี่ย  ให้เราสะท้อน คิดใคร่ครวญ เรียนรู้แล้วเราจะได้สิ่งที่เรียกว่าหลักการ ในทุกอุปสรรค คุณจะได้หลักการ หากครั้งหน้าคุณเจอสถานการณ์นี้อีก คุณจะรับมือได้ดีมากขึ้น  

มีอีกหนึ่งเล่มที่อยากแนะนำชื่อว่า It’s Not How Good You Are, It’s How Good You Want to Be เป็นหนังสือนานแล้วนะครับ ซึ่งผมมีเป้าหมายว่าจะทำตอนใหม่ในทุกๆ วันทำให้ผมกระตือรือร้นที่อยากจะหาความรู้ใหม่ๆ เช่นอ่าน อีบุ๊กอย่างเนี่ยแล้วก็สรุปมาเป็นพอดแคสต์

______________________________________________________________________________

สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม CEO at rgb72 and Founder of Creative Talk Conference
หนังสือ What If , จะเกิดอะไรขึ้นถ้า… สำนักพิมพ์ WE LEARN 

Inside the mind of a master procrastinator | Tim Urban , TED Talk
youtu.be/arj7oStGLkU

ถ้าให้แนะนำหนังสือสำหรับช่วงที่เรามีเวลาว่าง ผมอยากแนะนำหนังสือที่ไม่ซีเรียสมากนักแต่เสริมสร้างไอเดียสมองและเปลี่ยนความคิด mindset ของเราได้ในเวลาเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ชื่อ What If? แปลเป็นไทยชื่อ จะเกิดอะไรขึ้นถ้า เป็นหนังสือที่ผมแนะนำให้หลายคนมากๆ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือ how to สอนอะไร แต่เป็นหนังสือที่เกิดจากการตั้งคำถามของคนช่างสังเกต แล้วคำตอบจะถูกตอบโดยสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ 

ยกตัวอย่างคำถามเช่น “ต้องใช้ตัวต่อเลโก้จำนวนเท่าไหร่ในการสร้างสะพานข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วตั้งแต่เริ่มผลิตมามีตัวต่อเลโม้มากขนาดนั้นหรือเปล่า” หรือคำถามเช่น “ต้องปล่อยสเต๊กจากความสูงเท่าไหร่จึงจะทำให้มันสุกพอดีตอนตกถึงพื้น” และ “ถ้ามนุษย์หายไปจากโลกนานแค่ไหนกว่าแสงสุดท้ายจากฝีมือมนุษย์จะดับลง”

แน่นอนว่าคำถามและคำตอบที่ได้จากหนังสือเล่มนี้คุณอาจจะไม่ได้นำมันมาใช้จริงในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งที่จะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้คือวิธีการมองโลก และวิธีการคิดเพื่อนำมาซึ่งการแก้ปัญหาเพราะผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่คนทุกคนต้องมีและต้องเสริมเพิ่มตลอดเวลาคือการสังเกต วิเคราะห์ และค้นหาคำตอบที่ถูกต้องเหมาะสม อยู่ตลอดเวลา และแต่ละบทของหนังสือเล่มนี้จะค่อย ๆ เหลาความคิดและวิธีคิดได้เป็นอย่างดี

ส่วนคลิปสนุก ๆ แต่ได้สาระความรู้ ผมขอแนะนำคลิปที่ผมเองเปิดดูซ้ำบ่อย ๆ นั่นคือ Inside the mind of a master procrastinator โดย Tim Urban ที่พูดในงาน TED Talk 

ทิมพูดถึงเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงชอบ ผัดวันประกันพรุ่ง และไม่ใช่แค่บางคน แต่ทุกคนเป็นเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะการทำงานของสมองเรา มีสิ่งที่ทิมเรียกมันว่า “ลิงที่ทำตามใจตัวเอง” หรือ Instant gratification monkey อยากรู้ว่าเจ้าลิงนี้มีผลต่อการผัดวันประกันพรุ่งของพวกเราอย่างไร และทำไมเราถึงต้องมาทำงานเอาวันสุดท้ายทุกครั้ง ดูคลิป 14 นาทีนี้ เพื่อค้นหาคำตอบได้อย่างมีสาระและสนุกมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน เผลอ ๆ อีกสิ่งที่คุณอาจจะได้ติดกลับมาคือวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจอย่างที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน


รีวิวหนังสือ What If : แนะนำ What If? หนังสือที่มุ่งตอบคำถามโง่ ๆ จนได้ดี


เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์ 
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

Related Articles

ทำไมน้ำยาบ้วนปากต้องมีสี? สีมีผลอย่างไรต่อการทำความสะอาดช่องปาก?

หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับ “สี” ที่นำมาใช้กับสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน เช่น ทำไมชุดผ่าตัดต้องเป็นสีเขียว? หรือ ทำไมไฟจราจรต้องใช้แค่ 3 สี แดง…

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

ทำไมไฟจราจรต้องใช้แค่ 3 สี แดง เหลือง เขียว

เชื่อว่าทุกๆ คนต้องเคยผ่านสี่แยกไฟแดง ไม่ว่าจะผ่านโดยการเดินขับรถ หรือนั่งขนส่งสาธารณะ แต่คุณเคยสังเกตไฟจราจรที่สี่แยกไหมว่าทำไมถึงต้องเป็นไฟแดง เหลือง เขียว ทำไมถึงมีแค่สามสีนี้ทั่วทุกที่ในโลก ทำไมจึงไม่เป็นสีม่วง ชมพู…

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

‘นี่คือเหงา นี่แหละเหงา’ Video Conference Call อย่างไรให้คลายความคิดถึงเพื่อนร่วมงาน

ตอนนี้มองไปทางไหนทุกออฟฟิศในไทยแทบทุกแห่งเริ่มประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 การนัดประชุม การเรียนการสอนต่าง ๆ…

Article | Creative/Design
justo elementum id neque. ut Lorem risus amet, eget sem, velit,