บทความจาก Fast Company “8 Robots Racing To Win The Delivery War in 2019” พูดถึงหุ่นยนต์ส่งอาหาร ในงาน CES 2019 (Consumers Electronics Show 2019) เป็นงานที่เวลามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เปิดตัวก็จะเริ่มประกาศที่นี่เป็นที่แรก ไม่ว่าจะเป็นซัมซุงจอโค้ง หรือเน็ตฟลิกซ์ที่เริ่มเปิดบริการในเอเชีย ถือเป็นงานสำคัญที่จะจัดทุกต้นปี โดยในปีนี้มีการเปิดตัวหุ่นยนต์เดลิเวอรี่ 8 ตัว โดยจะมาอธิบายให้เห็นภาพรวมของหุ่นยนต์ทั้งหมดกัน
เดิมทีเทคโนโลยีเดลิเวอรี่ ทั้งการส่งอาหารและส่งของมักจะมีปัญหา เช่น หุ่นยนต์กระโดดขึ้นทางเท้าไม่ได้ ไม่สามารถเดินผ่านประตูหรือขึ้นบันไดได้ รวมถึงปัญหาการถูกขโมย เพราะส่วนมากจะเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กเท่ากระเป๋าเดินทาง การขโมยก็เป็นการอุ้มขโมยไปเลย แต่ 8 ตัวนี้มีความน่าสนใจและน่าจะสามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้บ้าง
หลัก ๆ เป็นการขนส่งระหว่างจุดที่เป็นร้านอาหารหรือทำอาหารไปยังผู้สั่งอาหารซึ่งเป็นบ้าน หอพักหรือจุดนัดพบ มาเริ่มดูตัวแรกกันเลย

1. SEGWAY LOOMO DELIVER
หุ่นยนต์ลักษณะคล้ายเครื่องถ่ายเอกสาร เป็นสี่เหลี่ยมมีชั้น แต่ขนาดเล็กกว่า มีไว้สำหรับการส่งภายในตึกหรือออฟฟิศ เช่น ส่งอาหารจากโรงอาหารมาที่โต๊ะ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยสัญญาณ 4G สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 110 ปอนด์ (ประมาณ 50 กิโลกรัม) ปัจจุบันยังไม่มีวางขาย แต่สามารถพรีออร์เดอร์ได้

2. ANYBOTICS AND CONTINENTAL
หุ่นยนต์ลักษณะคล้ายสุนัข สามารถส่งอาหารได้ โดยหุ่นยนต์ตัวนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทที่ชื่อว่า CONTINENTAL ผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ และบริษัท ANYMAL ผู้ผลิตตัว Robo-dog โดยหลักการทำงานคือจะมีการนำหุ่นยนต์เหล่านี้ใส่บนรถตู้ และขับไปตามสถานที่ต่าง ๆ เมื่อถึงที่หมายแล้วหุ่นยนต์ก็จะเดินออกมาพร้อมอาหาร
Robo-dog ทำงานได้ดีมาก เพราะสามารถเดินในที่แคบ ขึ้นลิฟต์ ขึ้นบันได เคาะประตูได้ และการควบคุมทั้งหมดใช้ระบบ AI
ข้อดีคือตัว Robo-dog วิ่งแค่เฉพาะในอาคารก็พอ หากต้องมีการเดินทางระหว่างสถานที่รถตู้จะเป็นตัวเคลื่อนย้ายแทน เจ้าหุ่นยนต์นี้ก็จะขึ้นรถและชาร์จไฟไปบนรถ แต่ปัจจุบันยังไม่มีให้สั่งซื้อหรือกำหนดการจำหน่าย

3. POSTMATES SERVE
หน้าตาเหมือนมินเนียนผสมวอลล์-อี มีลูกตาเหมือนคน ผู้ผลิตตั้งใจให้มีลูกตาแบบนั้นเพื่อที่มนุษย์จะได้รู้ว่าหุ่นยนต์กำลังจะไปทางไหน จากการมองซ้ายหรือมองขวา หลังการชาร์จ 1 ครั้ง POSTMATES SERVE สามารถเดินทางได้ไกล 30 ไมล์ รับน้ำหนักได้ 50 ปอนด์ (ประมาณ 25 กิโลกรัม) ปัจจุบันถูกนำมาใช้งานที่ LA

4. MARBLE
MARBLE เป็นบริษัทที่ทาง FastCompany เคยให้รางวัล The Most Innovative Company ตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโก ระบบการสั่งอาหารจะทำการเชื่อมต่อกับบริษัท Search หาร้านอาหาร Yelp โดยใช้ 3D Mapping และ AI ในการทำงาน
เป้าหมายของ MARBLE ไม่ใช่การส่งอาหาร แต่เป็นการช่วยเชื่อมธุรกิจท้องถิ่นกับลูกค้าเข้าด้วยกัน วิธีการคือไม่ใช่การที่หุ่นยนต์จะไปรับของตามร้าน แต่ MARBLE จะช่วยแบกถุงหรือของกลับบ้าน แทนที่ลูกค้าจะแบกเอง ปัจจุบันนี้ MARBLE ผลาญเงินมหาศาล แต่ก็สามารถระดมทุนกลับมาได้เพิ่มอีกกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. BOXBOT
ฐานการผลิตอยู่ที่ Oakland ได้รับการลงทุนโดย Toyota AI Venture ซึ่งถือว่าเป็นหุ่นยนต์เดลิเวอรี่ตัวแรกของ Toyota เลย โดยตัว BOXBOT มีเจ้าของ 2 คน คือ วิศวกรจาก Tesla และ Uber ในส่วนของรายละเอียดอื่น ๆ เป็นความลับสุดยอด แต่ที่มีการใบ้จากทาง Toyota ว่า BOXBOT ไม่ได้หน้าที่แค่ขนส่งอาหารเท่านั้น มีการเดาว่าอาจจะเป็นการขนส่งรถยนต์ เพราะได้รับการสนับสนุนโดย Toyota

6. NURO
ปัจจุบันเป็นหุ่นยนต์เดลิเวอรี่ที่ตัวใหญ่ที่สุด ขนาดเท่ากับรถแวน ด้วยความที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงในบ้าน ออฟฟิศ ลิฟต์ หรือบันไดได้ จึงสามารถจอดได้แค่ข้างถนน แล้วให้คนออกมารับ
ข้อดีคือข้างใน NURO สามารถเป็นได้ทั้งตู้เย็นและที่เก็บความร้อนเพื่อให้อาหารยังคงอุณหภูมิได้อยู่ NURO ถูกทดสอบตั้งแต่ 2016 และมีแนวโน้มว่าจะไปได้ดีในอนาคต

7. KIWIBOT
ถูกผลิตขึ้นใน UC Berkeley มีลักษณะขนาดเล็ก จากการทดสอบในมหาวิทยาลัยพบว่า การใช้หุ่นยนต์ขนส่งอาหาร เร็วกว่ามนุษย์ถึง 65% เฉลี่ยเวลาในการขนส่งคือ 27 นาที และจากที่ KIWIBOT ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ได้รับการให้คะแนน ถึง 4.6/5 อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถส่งถึงห้อง ชั้นบน หรือขึ้นบันไดได้ จึงต้องจอดข้างถนน

8. STARSHIP ROBOTS
ถูกทดสอบตามหัวเมืองต่าง ๆ เคยทดสอบในปี 2018 แบบ 7 วันต่อสัปดาห์ ในหลาย ๆ หัวเมือง STARSHIP ROBOTS เคยเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะมีการทดสอบอีกหลายครั้งนับจากนั้น
STARSHIP ROBOTS เป็นหุ่นยนต์ที่ขนส่งภายในมหาวิทยาลัย ถ้าเราต้องการอาหาร เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้จะจอดเป็นแผงเหมือนจักรยานให้เช่า วิธีใช้งานคือใช้โทรศัพท์ในการเลือกว่าเราอยากได้อาหารอะไร จ่ายเงิน แล้วบอกหุ่นยนต์ พร้อมแจ้งพิกัดว่าจะรับอาหารที่ไหน เพราะไม่สามารถขึ้นตึกได้ โดยอาจเปลี่ยนไปนัดเจอที่ริมตึกแทน
หลักการคือใช้ iPhone เป็นตัวควบคุม เมื่อได้รับคำสั่งแล้ว STARSHIP ROBOTS ก็จะวิ่งไปที่โรงอาหาร ใน iPad ของโรงอาหารจะขึ้นเมนูที่สั่ง พอทำเสร็จหุ่นยนต์จะมารับ และวิ่งมาที่จุดนัดพบ วิธีรับอาหารคือใช้ iPhone ในการปลดล็อก เพื่อป้องกันการถูกขโมยและเปิดก่อน ซึ่งอาจจะยังแก้ปัญหาไม่ได้มากนัก เพราะตัวหุ่นมีขนาดเล็กแบบที่สามารถอุ้มได้
เรื่องของหุ่นยนต์ส่งอาหารฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจริงจัง หากทำได้จริงอาจมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจเดลิเวอรี่แบบเดิม ๆ ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้อาจถูกใช้โดยรถยนต์ไร้คนขับก่อน เหมือนใน X-MEN ที่เคยพูดถึงรถยนต์ไร้คนขับว่าเป็นรถขนส่ง เช่น จากเหนือลงใต้ คนขับขับเส้นทางเดิม เพราะฉะนั้นมันเป็นการทำซ้ำ จึงสามารถใช้หุ่นยนต์ได้ โดยล่าสุดมีการประกาศในงาน RISE ว่าเกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน แต่ในส่วนของเส้นทางที่ซับซ้อนกว่านี้อาจจะเป็นเรื่องยาก
หุ่นยนต์เดลิเวอรี่ในไทยยังนับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเส้นทางที่ซับซ้อน ถนนที่ชำรุดเป็นจุด ๆ รวมถึงหากโดนใบสั่งต้องมีการอ่านลายมือให้ออก คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกนานในการพัฒนา
ภาพและเนื้อหาอ้างอิงจาก fastcompany
ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ