Trending News

Subscribe Now

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก ประวัติศาสตร์ของ “ลิฟต์”

สิ่งประดิษฐ์เปลี่ยนโลก ประวัติศาสตร์ของ “ลิฟต์”

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นหนึ่งที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยใช้ บางคนใช้มันทุกวันด้วยซ้ำ แถมมันยังเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกนี้อีกด้วย สิ่งนั้นก็คือ “ลิฟต์”

ลิฟต์คล้ายกับประตูวิเศษของโดราเอม่อน คือเมื่อคุณเดินเข้าไปในประตูที่เป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แล้วประตูปิดลง ผ่านไปไม่ถึง 1 นาที เมื่อประตูเปิดอีกครั้ง ก็จะเปลี่ยนมาอยู่อีกที่หนึ่งแล้ว ซึ่งถ้าในลิฟต์ไม่มีไฟให้เห็นว่าตอนนี้คุณกำลังอยู่ชั้นอะไร เชื่อว่าหลายคนอาจจะงงด้วยซ้ำว่ากำลังอยู่ที่ไหนตอนที่เปิดประตูออกมาอีกครั้ง

ความพิเศษของลิฟต์ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนย้ายคนจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นด้วยความรวดเร็วเท่านั้น ลิฟต์ยังทำให้มนุษย์สามารถที่จะมีบ้านอาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตได้ในแนวตั้ง หากเมืองที่มีคนอาศัยอยู่มากอย่างกรุงเทพ โตเกียว หรือโซล ทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่ในแนวราบ อาศัยอยู่ในตึกเพียงชั้นเดียว ก็จะทำให้ต้องใช้พื้นที่มากและไม่เพียงพอ และถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีเทคโนโลยีในการสร้างตึกหลาย ๆ ชั้นมาก่อนก็ตาม แต่การสร้างตึกที่สูงมาก ๆ โดยมีแต่บันไดนั้น เกินขีดจำกัดร่างกายมนุษย์ไปมาก ลองจินตนาการว่าคุณต้องขึ้นบันไดเพียงอย่างเดียว สัก 10 ชั้นก็เหนื่อยแล้ว ดังนั้นจึงมีกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างลิฟต์ไว้ในตึกที่มีความสูง 5-6 ชั้นขึ้นไป เพราะมนุษย์ไม่สามารถขึ้นบันไดได้สูงขนาดนั้น 

แต่เดิมตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือตึกใบหยก 2 (ความสูง 304 เมตร) แต่ถูกล้มแชมป์โดยตึกที่ชื่อว่า คิงพาวเวอร์มหานคร (ความสูง 314 เมตร) แม้ว่าปัจจุบันตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยจะเป็นตึก แมคโนเลีย ไอคอนสยาม (ความสูง 317.95) เมตรก็ตาม แต่ลองจินตนาการว่า ตึกคิงพาวเวอร์มีพื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 135,000 ตารางเมตร เท่ากับสนามหลวง 1 สนาม หรือประมาณสนามฟุตบอล 100 สนาม แล้วในโลกนี้ไม่มีลิฟต์ การสร้างตึกที่มีพื้นที่ใช้สอยเท่าสนามหลวงในแนวราบบริเวณสีลม สาทร ย่อมเป็นไปไม่ได้ 

บางคนอาจจะสงสัยว่าลิฟต์เกิดขึ้นมานานแล้วหรือยัง เพราะดูเป็นอุปกรณ์ที่ทันสมัย น่าจะเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ความจริงแล้ว ลิฟต์เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 400-500 ปีมาแล้ว โดยตามหลักฐานที่ค้นพบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกคือ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่แล้วก็มีการสร้างซ้ำขึ้นในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ในยุคนั้นเรียกลิฟต์ว่า Flying Chair หรือเก้าอี้บินได้ เป็นเก้าอี้ที่มีเชือกผูกกับรอกไว้ แล้วดึงขึ้นไป ซึ่งไม่มีความปลอดภัยเลย เพราะเมื่อดึงเก้าอี้ขึ้นไปแล้วเชือกขาด คุณจะตกลงมาตายอย่างแน่นอน ไม่มีใครกล้าใช้ลิฟต์แบบนี้ขึ้นไปสูงเป็น 10 ชั้นแน่ เพราะแค่ 3 ชั้นก็เสียวแล้ว ดังนั้นถึงแม้ว่าลิฟต์จะถือกำเนิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย 

นวัตกรรมที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างและใช้งานตึก 100 ชั้นได้ เกิดขึ้นโดยชายที่ชื่อ กราเวส โอทีส (Graves Otis) ซึ่งถ้าพูดถึงชื่อกราเวส คุณอาจจะไม่คุ้น แต่เชื่อว่าคุณจะต้องคุ้นชื่อ Otis อย่างแน่นอน เพราะนั่นคือชื่อของบริษัทที่สร้างและพัฒนาลิฟต์ชื่อดังระดับโลก Otis Elevator ผู้ชายที่ชื่อกราเวสคนนี้มีความสำคัญมาก เขาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าเบรกนิรภัยขึ้นมา ซึ่งช่วยทำให้คุณไม่ร่วงตกลงไปถึงพื้นหากคุณขึ้นลิฟต์แล้วเชือกหรือสลิงเกิดขาดขึ้นมา

กราเวส โอทีส ได้ทำการโชว์สิ่งประดิษฐ์ของเขาที่ตึกคริสตัล พาเลส โดยขึ้นลิฟต์ไปสูงระดับหนึ่ง และมีผู้ชายคนหนึ่งอยู่ด้านล่างพร้อมกับขวานไว้ตัดเชือก เมื่อตัดแล้วปรากฎว่าลิฟต์ที่นายโอทีสอยู่ก็ร่วงลงมา เบรกนิรภัยก็เริ่มทำงานและสามารถเบรกได้ นายโอทีสจึงรอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ทำให้คนเริ่มที่จะไว้ใจลิฟต์ และสามารถขึ้นลิฟต์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในตึกสูงหลักร้อยชั้นก็ตาม

จริงอยู่ที่ลิฟต์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างตึกสูงได้ เพราะมันเป็นเรื่องของวิศวกรรม และวิศวกรรมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างลิฟต์ แต่ถ้าหากไม่มีลิฟต์ ก็ไม่สามารถมีตึกสูงอย่างในปัจจุบัน และเพราะลิฟต์ จึงทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันหลายพันชีวิต บนพื้นที่ที่จำกัดได้ นี่จึงเรียกว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลกก็ว่าได้

 Mahad Aamir 

ถอดความจาก: Design You Don’t See Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

เรียบเรียงโดย รมิตา ตั้งกุลบริบูรณ์ นักศึกษาจบใหม่จากคณะวารสารฯ ที่ยังคงเชื่อว่าสิ่งพิมพ์ไม่ใช่สื่อแต่คือ Content อยู่ระหว่างใช้ชีวิต Freelance กับกระเป๋าที่เริ่มจะแบน ตอนนี้ยังไม่คิดเรื่องแฟนเพราะแม้แต่เพื่อนก็ยังขาดแคลน

Related Articles

ปรับนิสัยเลิกพูดว่า “ไว้ก่อน” ได้ใน 3 ขั้นตอน

คุณรู้ไหมคะ ว่าวันที่คนชอบออกกำลังกายมากที่สุดคือวันไหน ... คำตอบคือ "วันพรุ่งนี้" คนเรามักจะผัดผ่อนภารกิจของตัวเอง งานต่าง ๆ ไปก่อน รอจนเหลือเวลาจวนเจียนค่อยทำ...
Podcast | The Organice

Expectation Management ตอน 1 จัดการกับการคาดหวัง บทเรียนจากคนทำร้านอาหาร สม่ำเสมอหรือดีขึ้น?

มีคนบอกว่า มนุษย์จะมีความสุข เมื่อได้ตามสิ่งที่คาดหวัง และจะมีความทุกข์ หรือโมโห เมื่อไม่ได้ตามที่คาดหวังไว้ Reality Expectation = Happiness…

Entrepreneur | Morning Call | Podcast

อนาคตวงการ Creative ต้องปรับตัว สรุปจากงาน CTC2020

อาจไม่ใช่แค่แวดวงเทคโนโลยีหรือธุรกิจเท่านั้นที่ต้องปรับตัว ใครจะคิดว่าคนทำงานด้านครีเอทีฟยังต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันโลกเช่นกัน ทั้งที่ช่วงหนึ่งยังเคยพูดกันหนักหนาว่าเป็นอาชีพอันดับท้าย ๆ ที่จะโดนดิสรัปต์จากเทคโนโลยี วันนี้มันอาจไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะความคาดหวังของผู้บริโภคสูงขึ้น ครีเอทีฟจึงต้องติดอาวุธทั้งศาสตร์และศิลป์ไว้กับตัว ในปี 2020…

Article | Creative/Design
tristique nec consequat. neque. Phasellus vel, pulvinar Praesent ut dolor sit efficitur.