ตอนนี้เราจะมาพูดถึงการค้นหาเป้าหมายของตัวเอง จากตอนที่แล้วในเมื่อเราไม่รู้ว่าเรือลำนี้จะไปไหนและตัวเราเองจะไปไหน (เปลี่ยนความคิด ชีวิตการทำงานก็เปลี่ยน ตอน 1/2) เราจะลองมาเริ่มค้นหาก่อนว่าตัวเราเองอยากไปไหน
สิ่งที่เราต้องทำในการเข้าใจตัวเองจริง ๆ คือ การตั้งเป้าหมาย (Set Goal)
เชื่อไหมว่าหากเราตั้งเป้าหมายและเป้าหมายนั้นไม่ใช่เงิน ชีวิตการทำงานของเราจะสนุกสนานและมีชีวิตชีวามากขึ้น มาดูวิธีการตั้งเป้าหมายกัน
ก่อนอื่นหยิบกระดาษมาหนึ่งแผ่นและตีตารางแบ่งช่องเป็น 3 ช่อง โดยแต่ละช่องจะมีไว้สำหรับเป้าหมายแต่ละขนาด ได้แก่ เป้าหมายขนาดเล็ก (S), เป้าหมายขนาดกลาง (M) และ เป้าหมายขนาดใหญ่ (L) โดยรายละเอียดของแต่ละเป้าหมายมีดังนี้
- เป้าหมายขนาดเล็ก (S) คือ เป้าหมายระยะสั้น อยู่ในช่วงวันนี้พรุ่งนี้ – 1 ปี
- เป้าหมายขนาดกลาง (M) คือ เป้าหมายระยะกลาง อยู่ในช่วง 2 ปี
- เป้าหมายขนาดใหญ่ (L) คือ เป้าหมายระยะยาว อยู่ในช่วงตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป
จากนั้นลองเขียนเป้าหมายในช่องเป้าหมายขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ อย่างละ 10 ข้อ เมื่อเขียนเสร็จ เราจะมีเป้าหมายทั้งหมด 30 เป้าหมาย โดยเป้าหมายนั้นสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องที่จริงจัง เช่น อยากเรียนจบปริญญาโท เลื่อนตำแหน่ง หรือมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เป็นต้น
หรืออาจเป็นเป้าหมายสนุก ๆ ที่ในสายตาคนอื่นดูไม่จริงจังแต่มีความหมายกับเรา เช่น
ใน 6 เดือนนี้อยากจะลดน้ำหนัก
อยากดู Netflix ให้ครบ 10 ซีรีส์ใน 6 เดือน
พาแม่ไปต่างประเทศ
อยากได้สามีเป็นชาวต่างชาติ
เราอยากทำอะไรตั้งเป้าหมายไปเลย แต่สิ่งสำคัญคือเป้าหมายเหล่านี้ต้องวัดผลได้ เช่น อยากดู Netflix ให้ครบ 10 ซีรีส์ใน 6 เดือน แบบนี้วัดผลได้ อย่าตั้งลอย ๆ เช่น อยากเป็นคนดี วัดผลไม่ได้เพราะความดีวัดไม่ได้ แต่ถ้าหนึ่งในการเป็นคนดีของเราคือการไปทำบุญ ลองเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการทำบุญ 100 วัด แทน เป็นต้น
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่นอกจากเป้าหมายต้องวัดผลได้แล้ว เป้าหมายของเราห้ามเป็นเงิน อย่าตั้งเป้าหมายเป็นเงิน แต่ให้เงินเป็นแค่รางวัลจากการทำงานตามเป้าหมาย เช่น เป้าหมายคืออยากเรียนให้จบปริญญาโท ปรากฎว่าพอเรียนจบปริญญาโทเงินเดือนขึ้น
ต่อมาเมื่อเราเขียนเป้าหมายต่าง ๆ ครบทั้ง 30 ข้อแล้ว เอาดินสอมาวงเลือกแค่เป้าหมายละ 1 ข้อเท่านั้น (เป้าหมายระยะสั้น กลาง และยาวอย่างละ 1 เป้าหมาย) เพราะถ้าเราต้องทำตามทั้งหมด 30 ข้อ คงเป็นไปไม่ได้แน่นอน ที่ต้องทำแบบนี้ก็เพราะ ถ้าเราต้องเลือกทำเพียง 3 ข้อ จากทั้งหมด 30 ข้อ เราจะเลือกเป้าหมายที่เราคิดว่ามันมีคุณค่าสำหรับจริง ๆ ซึ่งถ้ารู้สึกว่าเลือกยากอาจจะมีอย่างละ 2 ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคืออย่ามีเป้าหมายที่เยอะจนเกินไปเพราะมันจะมั่วไปหมด
เมื่อตั้งเป้าหมายได้แบบนี้ชีวิตจะง่ายขึ้น เพราะชีวิตเป็นเรื่องของตัวเลือกและการตัดสินใจทั้งสิ้น เช่น วันนี้จะไปทำงานเช้าหรือสาย จะไปดูหนังกับเพื่อนดีไหม
โดยสิ่งที่เราต้องตัดสินใจมี 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ สิ่งที่ต้องทำ (สำคัญที่สุด) สิ่งที่ควรทำ (สำคัญรองลงมา) และสิ่งที่อยากทำ (สำคัญน้อยที่สุด) ถ้าพูดตามหลักแล้วเราคงตอบได้ง่าย ๆ ว่าต้องทำอะไรก่อน นั่นก็คือต้องทำแบบเรียงลำดับความสำคัญ แต่ในความเป็นจริงเรากลับทำย้อนศร คือทำสิ่งที่อยากทำก่อน แล้วค่อยทำสิ่งที่ควรทำและต้องทำทีหลัง เช่น เพื่อนชวนไปดูหนัง เราก็ตอบตกลงอย่างรวดเร็ว แต่จะอิดออดตอนอ่านหนังสือ
พอเรามีเป้าหมาย การตัดสินใจเรื่องสิ่งที่ต้องทำ ควรทำ และอยากทำ ก็จะง่ายขึ้น เพราะเราสามารถดูได้ว่าการตัดสินใจของเรา มันนำไปสู่เป้าหมายหรือไม่ เช่น ถ้าเพื่อนชวนเราไปดูหนัง เราจะปฏิเสธเพราะเป้าหมายของเราคือการดู Netflix
สิ่งที่ต้องทำ ควรทำ และอยากทำของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน สำหรับคนที่มีเป้าหมายอยากเรียนจบปริญญาโท การดูหนังจะกลายเป็นเรื่องที่อยากทำ แต่ถ้าเราอยากเป็นผู้กำกับระดับประเทศให้ได้ การไปดูหนังก็จะกลายเป็นเรื่องที่ควรทำสำหรับเรา เพราะการจะเป็นผู้กำกับได้ไม่สามารถเป็นได้จากการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูหนังเยอะ ๆ ด้วย เป็นต้น
เมื่อเรารู้แล้วว่าเป้าหมายของเราคืออะไร อยากจะเดินทางไปทิศเหนือ ทิศใต้ ตะวันออกหรือตะวันตก เราก็จะสามารถดูได้แล้วว่าบริษัทนี้ไปทิศทางเดียวกับเราหรือเปล่า ถ้าบริษัทไปทิศทางเดียวกับเรา ทำงานให้เต็มที่ ไม่ว่าตำแหน่งไหน เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อบริษัทอีกแล้ว แต่กำลังทำเพื่อตัวเราเองด้วย เราไม่จำเป็นต้องตื่น 8 โมงเช้า เพราะกลัวโดนหักเงิน แต่เรากำลังทำงานเพื่อเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น
อีกเทคนิคหนึ่งคือ เราอาจค้นพบว่าเราอยากไปทิศเหนือ แต่เรือที่เราอยู่กำลังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ถือว่าไปทางทิศเหนือเหมือนกันแบบเฉียด ๆ ซึ่งยังนับว่าเป็นเรือที่น่าทำงานอยู่ ในระหว่างที่ยังไม่เจอเรือที่ไปทางทิศเหนือเป๊ะ ๆ เราสามารถเกาะเรือลำนี้ได้เพราะยังไงเขาก็ยังไปในทิศที่เราอยากไปเหมือนกัน เมื่อรู้เป้าหมายของเรา เป้าหมายของบริษัทแล้ว เราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
ภาพประกอบบทความจาก Free-Photos, Pixabay
ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม
ฟัง EP. นี้แบบเต็ม ๆ ได้ที่: SOUNDCLOUD, Spotify, PodBean
บทความที่คุณอาจสนใจ