ถ้าวันหนึ่งมูลค่าหุ้นของบริษัทตกลงเหลือ 2 ดอลล่าร์ จากที่เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 76 ดอลล่าร์ คุณคิดว่าบริษัทจะรับมือกับสถานการณ์อย่างไร
คุณจะได้เห็นความผิดพลาดระดับมหากาพย์นี้จากเรื่อง Wall Street : Money Never Sleeps เมื่อ ลูอิส กรรมการผู้จัดการบริษัททางการเงิน ทำพลาดเรื่องใหญ่ชนิดที่คุณเองก็นึกไม่ออกว่าจะผ่านเรื่องนี้ไปได้อย่างไร
แต่ก็เพราะวิกฤตินี้นี่เอง ทำให้เจค็อปหนุ่มโบรกเกอร์ไฟแรงในทีมได้แรงบันดาลใจครั้งใหญ่ และถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตครั้งสำคัญ
เนื้อเรื่องใจความของหนังกลับไม่ใช่มูลค่าของหุ้น แต่เป็นเรื่องของใจคนที่อยู่ในเกมทางการเงิน
It’s not about the money. It’s about the game between people.
หลายครั้งเราเลือกที่จะตัด “คนพลาด” ออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยเหตุผลว่านี่คือการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น คำถามคือการตัดต้นเหตุของปัญหาออกไป ทำให้ปัญหานั้นจบลงเดี๋ยวนั้นเลยหรือเปล่า แล้ว “คนที่เหลือ” คือที่ต้องรับกรรมที่คนอื่นทำเรื่องไว้ใช่หรือไม่
ภาวะวิกฤตที่ต้องรับมือกับ Crisis Management มีเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารจะละเลยไม่ได้ คือนอกจากการพุ่งหาวิธีแก้ไขปัญหาใหญ่นั้นให้ได้แล้ว การประคองผู้คนที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ๆ ให้ก้าวผ่านไปด้วยกันคือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
นอกจากจะเด็ดขาดกับต้นตอของปัญหาแล้ว ผู้นำยังต้องชัดเจนกับแนวทางแก้ไขสถานการณ์ ทำให้ทีมมั่นใจด้วยว่าจะผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ด้วยวิธีอะไร และเราจะต้องอยู่กับสถานการณ์นี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ถ้าถึงจุดที่ต้องลงมือทำในบางเรื่องก็ต้องทำ และนั่นจะยิ่งทำให้ทีมมั่นใจว่าพวกเขาจะไม่ถูกทิ้งไว้กับปัญหากันเพียงลำพัง
สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจจะไม่ทันได้มองเห็น คือทีมที่ผ่านวิกฤตการณ์ไปด้วยกันได้ นั่นคือ “ม้าศึก” ที่แกร่งขึ้นอีกขั้น เจค็อปในเรื่องอาจจะไม่ได้ฝึกลูกล่อลูกชนขนาดนี้ ถ้าไม่มีบทเรียนของลูอิสเป็นสิ่งผลักดันให้เขาก้าวไปในจุดที่เค้าเองก็ไม่เคยคิดมาก่อน
เพราะความเป็นจริงแล้ว เหตุการณ์ที่เราจะทำผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้เท่ากันหรือมากกว่าวันที่จะความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ
แต่สิ่งที่เราจะได้รับจากทุกเรื่องที่ผ่านไป คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ในเกมของชีวิตที่คุณต้องอยู่ให้ได้แม้จะมีวันร้ายคืนร้ายมากกว่าวันชื่นคืนสุขก็ตาม