Trending News

Subscribe Now

Shelter in Place ไดอารี่ของมาริเอะ คนโดะ ในช่วงโควิด-19

Shelter in Place ไดอารี่ของมาริเอะ คนโดะ ในช่วงโควิด-19

Article

Work From Home กันมาระยะหนึ่งแล้ว หลายคนเริ่มปรับตัวได้และเริ่มมีกิจกรรมประจำวันเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น ทำอาหารกินเองที่บ้าน จัดมุมทำงาน ปลูกต้นไม้ ไปจนถึงรื้อข้าวของออกมาทำความสะอาดและจัดบ้านกันไปในตัว 

ใช่ค่ะ จัดบ้าน พอเราเห็นคำนี้แล้วก็อดนึกถึง มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo) เสียไม่ได้ ผู้หญิงหน้าตาใจดี ที่ทำให้คำว่า Spark Joy เป็นตัวแทนของสิ่งของที่ดีต่อใจที่คุณเลือกจะเก็บไว้แทนความทรงจำ 

มาริเอะ เองช่วงนี้ก็ต้อง Shelter in Place และ Social Distancing ด้วยการ Work From Home จากที่บ้านของเธอใน ลอส แองเจลิส เพราะผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยเช่นกัน อีกทั้งงานเปิดตัวหนังสือใหม่ของเธอที่ชื่อ Joy at Work ที่เธอเขียนร่วมกับ สก๊อตต์ โซเนนไชน์ ก็ถูกยกเลิก เธอต้องอยู่บ้านทำงาน พร้อมไปกับดูแลลูกสาววัย 3 ขวบและ 4 ขวบที่ต้องหยุดโรงเรียนอยู่บ้าน

มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo)

ภาวะที่พวกเราต่างหวาดกลัว อยู่บ้านกันจนเริ่มเฉา มาริเอะ ผู้ใจเย็นมีรอยยิ้มบนใบหน้าตลอดเวลา จะมีวิธีจัดการบ้าน จัดการเวลา จัดการตัวเองอย่างไรในช่วงเวลานี้ Creative Talk เลยขอเก็บบทสัมภาษณ์ของ มาริเอะ กับ The New York Times มาเล่าสู่กันฟังค่ะ

“มันเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่เราจะได้ใช้เวลากับบ้านกับพื้นที่ของเราอย่างรู้คุณค่า และได้จัดระเบียบข้าวของต่าง ๆ เช่นกัน” มาริเอะ กล่าวถึงสถานการณ์ช่วงนี้ 

เรามาดูตารางการ Work From Home ทั้ง 4 วันในแบบมาริเอะ คอนโดะกันค่ะ

วันจันทร์ 

6:30 น. | สิ่งแรกที่ฉันทำคือจุดธูปหอมเพื่อเพิ่มพลังงานในบ้านตอนเช้า ฉันจะไปที่สวนหลังบ้านเพื่อยืดเส้นยืดสายแล้วเก็บเลมอนที่ฉันปลูกเองติดมือมาด้วย จากนั้นฉันจะดื่มน้ำมะนาวอุ่น แล้วเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำสมาธิ (ช่วงนี้ Online Shop ของมาริเอะมีผลิตภัณฑ์ดูแลตัวเองที่เรียกว่าหมวด Self Care ซึ่งมีเบาะทำสมาธิเป็นสินค้าในหมวดนี้ด้วย …. ดูเหมือน มาริเอะ จะ tie-in สินค้าแบบเนียนๆ 🙂 )

มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo)

7:00 น. | ฉันเตรียมอาหารเช้าสไตล์ญี่ปุ่นสำหรับทั้งครอบครัว ฉันหุงข้าวด้วยหม้อดินญี่ปุ่น จากนั้นอุ่นซุปผักที่ฉันทำไว้ตั้งแต่เมื่อคืนก่อน เสิร์ฟพร้อมกับสตูว์ปีกไก่และบร็อคโคลี่

8:00 น. | หลังจากที่เรารับประทานอาหารเช้าด้วยกันทั้งครอบครัวแล้ว ฉันก็จัดบ้านเล็กน้อยหลังอาหาร นี่คือช่วงเวลาสุดโปรดของฉันเพราะมันเหมือนสัญญาณการเริ่มงานของฉันแล้ว แถมโรงเรียนของเด็กๆ ปิดทำให้ฉันไม่ต้องเร่งรีบเหมือนเช้าทั่วไป 

10:00 น. | ฉันไปหาหมอฟันตามนัด ฉันต้องทำนัดไว้ก่อนกำหนด เพราะเดิมทีแล้วเดือนเมษายนฉันมีคิวที่ต้องโปรโมทหนังสือ Joy at Work แน่นตลอดเดือน แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทริปการเปิดตัวหนังสือที่นิวยอร์คต้องยกเลิกไปก่อน ฉันโทรคอนเฟิร์มกับคุณหมอให้แน่ใจอีกครั้งก่อนจะให้สามีแวะไปส่ง 

สามีไปส่งฉันตามเวลานัดแล้วเลยไปร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อของตามที่ฉันจัดตู้เย็นไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน การจัดตู้เย็นนี้ฉันทำเป็นคลาสสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนที่ญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นฉันจึงมีรายการที่แน่นอนว่าต้องเตรียมของอะไรบ้าง โดยเฉพาะในเวลาเช่นนี้แล้วเราควรซื้อแต่ของที่เราจำเป็นต้องใช้ ของที่เราซื้อโดยไม่จำเป็นอาจเป็นประโยชน์กับคนที่ต้องการมากกว่า

13:00 น. | ฉันกลับมาตรวจกลยุทธ์การสื่อสารหลักทั่วโลก (Global Communication Strategy) พบว่าเราต้องระมัดระวังกับสิ่งที่ผู้คนต้องโลกต้องเผชิญในช่วงเวลานี้ ฉันอัดคลิปสั้นๆ เพื่อให้กำลังใจคนที่ต้องอยู่บ้านและอาจต้องการคำปรึกษาในการจัดบ้านหรืออาจต้องการกำลังใจ

15:00 น. | ฉันนั่งตอบอีเมล ข้อความต่างๆ ใน Slack ตรวจข้อความที่จะส่งเป็น E-newsletter ถึงผู้ชมชาวญี่ปุ่น เรามีคอมมูนิตี้อยู่ทั่วโลก ฉันมีส่วนร่วมในงานย่อย ๆ ของทีมงานที่ญี่ปุ่น เพราะฉันพบว่าตรงกับจริตและเป็นธรรมชาติของฉันจริงๆ

16:00 น. | ฉันพักสักนิดด้วยชา 1 แก้ว ตอนนี้ข้างนอกฝนตกฉันเลยอยู่ในห้อง พักผ่อนหย่อนใจ

17:00 น. | ฉันเล่นกับลูกๆ ทั้ง 2 คน พวกเธอร้องเพลงโปรดและเต้นไปรอบบ้าน

18:00 น.| ฉันเริ่มเตรียมอาหารค่ำสำหรับวันนี้ ฉันเลือกทำสตูว์สไตล์ญี่ปุ่น ส่วนผสมประกอบไปด้วยแบบหยิน-หยาง 5 ประเภท มันช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและเต็มไปด้วยผักต่างๆ และเป็นเพราะการระบาดของไวรัส ฉันเลือกทำอาหารที่สร้างภูมิต้านทานให้กับทุกคนในครอบครัว นี่เป็นเรื่องที่ฉันคิดเพิ่มมากขึ้นในการเลือกทำอาหารในแต่ละวัน

ฉันฟังคอนเสิร์ตขลุ่ยไม้ไผ่ของ Sarah Akiyoshi ระหว่างเตรียมอาหารไปด้วย Clip นี้บันทึกจากประเทศญี่ปุ่นในช่วง Lockdown ทำให้การแสดงนี้ไม่มีผู้ชมในห้องส่งเลย แล้วนำมาเผยแพร่ใน Youtube แทน


วันอังคาร

7:00 น. | ฉันจุดธูปหอมแต่เช้าเหมือนทุกวัน

7:30 น. | ฉันหุงข้าวในหม้อดินญี่ปุ่นและทำซุปเต้าเจี้ยวจากอาหารเหลือเมื่อวานนี้ ซึ่งมีโกโบ, แครอท, หอมหัวใหญ่, เต้าหู้, เห็ดชิตาเกะ, ถั่วหมัก และดอกเบญจมาศ โรยด้วยเมล็ดงา

8:30 น. | โยคะประจำสัปดาห์

9:30 น. | ฉันทำงานบ้านเล็กน้อยอย่าง ซักผ้า ทำความสะอาดครัว ดอกบัตเตอร์คัพกำลังออกดอก ฉันตัดก้านดอกใต้น้ำ (ซึ่งจะทำให้ดอกไม้อยู่ได้นานขึ้น) แล้ววางดอกบัตเตอร์คัพไว้ทั่วบ้าน ความสุขจุดประกายอีกครั้ง (Spark Joy) โดยเฉพาะเมื่อได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้าน

10:30 น.| ฉันร่วมประชุมออนไลน์หลายนัดหมาย เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหลายโปรเจ็คที่กำลังมาถึง ฉันปรับตารางงานใหม่เพราะความเข้มงวดเรื่องการเดินทางในช่วงนี้ การสัมภาษณ์หลายๆ นัดที่เคยวางแผนไว้ว่าจะเป็นการพูดคุยกันที่นิวยอร์กในสัปดาห์หน้าต้องสัมภาษณ์กันทางออนไลน์

มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo)

12:30 น.| เด็กๆ กับฉันเล่นกันสนุก ปกติแล้วช่วงเวลานี้พวกเธอต้องอยู่กันที่โรงเรียน ฉันเลยจัดตารางตัวเองเพื่อใช้เวลากับเด็กๆ ให้มากขึ้น

13:30 น. | กลับมาทำงานต่อ ตอบอีเมล เขียนบทความ ฯลฯ

16:00 น. | ฝนข้างนอกหยุดตกแล้ว ฉันและสามีเลยออกไปเดินเล่นที่เนินป่าใกล้ๆ บ้าน นี่คือเวลาสำคัญของเราในฐานะผู้ร่วมธุรกิจ แทนที่จะนั่งคุยกันบทเก้าอี้ เราเลือกที่จะเดินและพูดคุยกันในไอเดียต่างๆ เราหาทางออกให้กับโปรเจกต์ต่างๆ แนวทางการวางกลยุทธ์ทั่วโลก แบ่งปันข้อคิดน่าสนใจจากบทความต่างๆ ที่เพิ่งไปอ่านกันมา เราสร้าง Slack ขึ้นมา 1 ชาแนล เพื่อเอาไว้อัพเดทเทรนด์การตลาดต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์มากเวลาที่เราพูดคุยกันในเรื่องอัพเดทเหล่านี้ มันช่วยให้เราพูดคุยกันสนุกสนานยิ่งขึ้น

19:00 น. | ทาคูมิ (สามีของฉันเอง) ไปรับซาชิมิจากร้านอาหาร เพราะที่ร้านไม่ได้เปิดโซนให้นั่งรับประทานเหมือนเคย เราต้องนำส่วนผสมกลับมาปรุงเองที่บ้าน


วันพุธ

7:00 น. | ฉันตื่นแต่เช้าพร้อมกับจุดธูปหอม

8:00 น. | ฉันทำอาหารเข้าแบบญี่ปุ่นเหมือนเคย วันนี้ฉันเริ่มจากซุปผัก ถือเป็นหนึ่งในเมนูที่ฉันมักจะทำประจำเพื่อลดการทิ้งอาหารเหลือ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้คุณค่าจากสารอาหารอย่างเต็มที่ด้วย เปลือกผักมี ไฟโตนิวเทรียนท์ซึ่งช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานได้ดี ทุกคนก็จะสุขภาพดีไปพร้อมกับสิ่งที่ฉันรักด้วย

มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo)

9:00 น. | ฉันเตรียมตารางทั้งวันให้กับการสัมภาษณ์แบบ Virtual เพื่อโปรโมทหนังสือใหม่ และเรากำลังเตรียมเปิดตัวสินค้าในหมวดอุปกรณ์สำนักงานออฟฟิศชุดใหม่ด้วย ออแกไนเซอร์, กระดาษ, อุปกรณ์เทคโนโลยี, อุปกรณ์จัดระเบียบ และของจุกจิกที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแต่ยังคงบรรยากาศสนุกสนานสดใสไปด้วยกัน ฉันตรวจตราในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ราคา ชื่อสินค้า การสื่อสารจนถึงมือลูกค้า

11:00 น. | หลายชั่วโมงกับการสัมภาษณ์ผ่าน Google Hangout และ Zoom นักข่าวต่างก็อยากรู้ว่า ฉันจัดการบ้านอย่างไรในช่วงเวลานี้ พวกเขาอยากเห็นว่าบ้านของฉันหน้าตาเป็นอย่างไร และฉันก็ต้องให้เขาดูบรรยากาศในบ้านจนได้ ทุกคนดูจะติดใจไข่แนว Zen ของฉัน ซึ่งทำมาจากไม้เป็นสัญลักษณ์ของสมดุลและการมีสติตื่นรู้ตลอดเวลา

14:30 น. | อาหารเที่ยง! เด็กๆ กินซุปผักและเบคอน ส่วนฉันเองเป็นเมนู ข้าวกับผัดหัวไชเท้าและแครอท

15:00 น. | สามีและฉันออกไปเดินเล่นเหมือนเคย ปกติแล้วเราจะพูดคุยเรื่องบริษัท แต่วันนี้เป็นวันครบรอบวันแต่งงานของเรา เราเลยเว้นจาการคุยเรื่องธุรกิจ แต่หันมา รีเฟลค (reflect) เรื่องที่ดีของกันและกัน

16:30 น. | ฉันตรวจงานของธุรกิจที่ญี่ปุ่น เมื่อเดือนก่อนฉันอัดรายการทอล์คโชว์ไว้และเพิ่งจะออกอากาศเมื่อคืนก่อน

18:30 น. | ฉันเตรียมอาหารมื้อเย็น อันที่จริงเราควรจะได้ฉลองวันครบรอบที่ร้านอาหาร แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงนี้เราพยายามทำให้ค่ำคืนพิเศษนี้เกิดขึ้นได้ที่บ้านของเรา


วันพฤหัส

7:30 น. | พรุ่งนี้วันศุกร์คือวันชุนบุน ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น ฉันใช้เวลาทั้งเช้านี้ไปกับการทำความสะอาดทางเข้าและประตูบ้าน ในธรรมเนียมของญี่ปุ่นนั้นทางเข้าบ้านถือเป็น จุดเริ่มต้นของชีวิตทั้งบ้าน ดังนั้นถือเป็นบริเวณสำคัญที่สุดเลยทีเดียว

หลังจากทำความสะอาดแล้ว ฉันนั่งพักจิบน้ำมะนาวอุ่นที่สวนในบ้าน เสร็จแล้วก็ไปเตรียมอาหารเช้าสำหรับทุกคน

มาริเอะ คอนโดะ (Marie Kondo)

9:00 น. | ฉันควรได้ถ่ายรายการทีวีในวันนี้เพื่อโปรโมทหนังสือใหม่ รวมถึงมีนัดถ่ายนิ่ง 2 คิวบ่ายนี้ แต่ทุกอย่างถูกยกเลิกหมด ฉันจึงใช้สมาธิไปกับหนังสือ คอนเทนต์ออนไลน์ รวมไปถึงหน้าร้านออนไลน์ต่างๆ แทน แทบทั้งสัปดาห์นี้ ฉันถือเป็นโอกาสอันดีที่ฉันจะได้ใช้เวลาไปกับงานที่สนุกมากๆ ของธุรกิจของฉันเอง

11:00 น. | ฉันทำงานต่อเนื่องยาวจนถึงเวลาอาหารกลางวัน ระหว่างนั้นก็นั่งทำลายเอกสารที่ไม่ได้ใช้แล้ว

12:00 น. | ฉันทำอาหารเที่ยงให้กับเด็กๆ เมนูวันนี้คือก๋วยเตี๋ยวปลาแซลม่อนอบ เสิร์ฟคู่มันฝรั่งและซูคินี่ และยังมีข้าวญี่ปุ่นหุงสาเกอีกเมนูด้วย อาหารหมักจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และยังเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย

13:00 น. | ฉันร่วมประชุมกับทีมงานที่ญี่ปุ่น เราพูดคุยกันหลายประเด็นรวมไปถึงคลาสให้คำปรึกษา KonMari และคลาสออนไลน์อื่นๆ อีกด้วย

14:00 น. | ฉันต้องประชุมกับทาคูมิในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวกับธุรกิจและเราจะช่วยผู้คนได้อย่างไรในช่วงเวลาที่ท้าทายขณะนี้ เราทบทวนดิจิทัล คอนเทนต์ที่เราวางแผนจะเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย เพราะเราต้องมีระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เราต้องถ่ายทำกันเอง นอกจากนั้นเรายังนั่งตรวจทานสัญญาและเอกสารต่างๆ อีกด้วย

15:30 น. | วันนี้ฉันตัดสินใจที่จะไม่ออกไปเดินเล่นอย่างเคย และวันนี้ก็ไม่ค่อยมีคนออกไปเดินเล่นเหมือนวันก่อนๆ ฉันเองก็เริ่มระมัดระวังกับการออกไปข้างนอกเช่นกัน ฉันเลือกที่จะแพลงกิ้งในบ้านโดยมีเด็กๆ กระโดดโลดเต้นรอบๆ ฉัน

17:00 น. | ฉันเตรียมอาหารเย็นให้กับเด็กๆ คืนนี้ฉันจะทำหม้อไฟและผัดผัก เสิร์ฟพร้อมข้าวสวย

 ** บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์ผ่าน อีเมล แชท และโทรศัพท์

ดูจากตารางชีวิตของ มาริเอะ แล้ว เธอพยายามเปลี่ยนช่องทางการเผยแพร่เนื้อหาของเธอผ่านออนไลน์และโซเชียลมีเดียมากขึ้น ที่น่าสนใจคือร้านค้าออนไลน์ของเธอที่ดูจะกลายเป็นงานที่เธอให้เวลามากขึ้นในช่วงนี้ นอกเหนือจากหนังสือใหม่ของเธอที่ถูกเลื่อนการเปิดตัวออกแบบงานอีเวนต์ออกไป เราอาจได้เห็นมาริเอะในบทบาทของนักธุรกิจออนไลน์มากขึ้น ไม่แน่ว่าเร็วๆ นี้ มาริเอะอาจจะกำลังเขียนเคล็ดลับการจัดการ VDO Conference Call ที่น่าสนใจก็เป็นได้ 

หากใครที่เริ่มรู้สึกเฉา หรืออิดโรยกับการ Work From Home การลุกขึ้นมาทำกิจกรรมภายในบ้านเล็กๆ น้อย อย่างมาริเอะ คอนโด เองก็เป็นการดีเช่นกันค่ะ 

โดยเราสามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยน จัดมุมทำงานใหม่ หรือการจดบันทึกประจำวันเพื่อทบทวนแต่ละวันของตัวเองก็เป็นสิ่งที่ได้รีเฟลค หาจุดพัฒนาในตัวเองได้เหมือนกัน ขอให้ทุกคนผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันนะคะ 

อ้างอิง nytimes.com/2020/03/20/business/marie-kondo-coronavirus-diary.html

เรื่อง : ฉวีวรรณ คงโชคสมัย
ภาพ : konmari.com/

Related Articles

การออกแบบทางออกที่คุณอาจยังไม่รู้

เคยไหมเวลาคุณไปที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นตึก ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่บนท้องถนน บางครั้งคุณสามารถหาก็หาทางออกไม่เจอ เชื่อไหมว่า ‘ทางออก’ เป็นส่วนหนึ่งของการดีไซน์ซึ่งไม่มีคำว่าบังเอิญและการที่สถานที่ต่างๆ หาทางออกง่ายหรือยาก ล้วนผ่านการออกแบบมาแล้วทั้งสิ้น…

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast
justo Praesent quis, mattis felis ut sed elit. ipsum vulputate, risus.