Trending News

Subscribe Now

บริหารทีมงานด้วยการเปิดเผยเงินเดือน

บริหารทีมงานด้วยการเปิดเผยเงินเดือน

Article | Entrepreneur

ลองหลับตาแล้วคิดภาพช้า ๆ …

พรุ่งนี้เช้าคุณตื่นมา อาบน้ำ แต่งตัว หาอะไรรองท้อง แล้วฝ่าการจราจรที่คับคั่งและผู้คนที่เร่งรีบไปถึงที่ทำงาน จากนั้นคุณก็พบว่าเงินเดือนของทุกคนถูกพรินต์มาติดไว้ที่หน้าออฟฟิศ คุณได้เห็นทั้งเงินเดือนของคุณเอง เพื่อนร่วมงานที่นั่งข้าง ๆ รวมไปถึงหัวหน้าคนสนิทเป็นครั้งแรก คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นคะ?

บรรยากาศการทำงานคงจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความขุ่นข้องหมองใจมันอบอวล ปนไปด้วยความอิจฉาริษยาที่รายล้อมจนน่าอึดอัด

แล้วคุณเองล่ะคะ คิดว่าตัวเองจะรู้สึกยังไง เมื่อพบว่าคุณพี่คนที่คุณไม่ชอบได้เงินเดือนน้อยกว่าคุณมาก หรือรุ่นน้องจบใหม่คนนั้นที่เพิ่งเข้ามาทำงานกลับได้เงินมากกว่าคุณที่ทำงานมาหลายปี

เงินเดือนสมควรความเป็นความลับ (เหรอ?)

เรื่องเงินเดือนควรเก็บเป็นความลับ ก็เหมือนการที่คนเราต้องกินข้าวทุกวัน มันกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจตรงกันแบบไม่เห็นจะต้องสงสัย คุณเคยไปกินข้าวกับเพื่อนสมัยเรียนแบบครบรุ่น แล้วพบว่าตัวเองอยากลุกไปเข้าห้องน้ำขึ้นมาทันที ตอนที่มีคนถามเรื่องเงินเดือนขึ้นมาหรือเปล่าคะ?

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณไม่อยากจะเล่าเรื่องเงินเดือนให้ใครฟัง โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงาน งานวิจัยหลายชิ้นก็พบว่า คนยอมจ่ายเงินหลายพันบาทมากกว่าที่จะให้เพื่อนร่วมงานได้รู้เงินเดือนของตัวเองเสียอีกค่ะ

ก็แน่สินะคะ ถ้าวันนี้คุณพบว่า เพื่อนร่วมทีมคนนั้นที่วัน ๆ ดูจะไม่ทำอะไร เอาแต่กินผลไม้แล้วเดินไปเดินมา กลับได้เงินเดือนมากกว่าคุณ คุณก็คงจะคงโกรธไม่เบา รวม ๆ ไปกับความน้อยเนื้อต่ำใจ คิดว่าบริษัทไม่เห็นคุณค่าของคุณ โลกนี้ไม่เห็นจะยุติธรรมกับคุณที่ทำงานหนักมาขนาดนี้ อย่างน้อย ๆ ต้องมีคุยกับหัวหน้าหรือไม่อย่างนั้นก็เตรียมอัปเดตเรซูเม่หางานใหม่ ให้รู้แล้วรู้รอดไป

การเปิดเผยเงินเดือนจะทำให้คนไม่พอใจจริง (เหรอ ?)

เปลี่ยนความสงสัยให้เป็นงานวิจัย นักวิจัยกลุ่มหนึ่งไปทดลองกับพนักงานหลายพันคน แล้วก็ไม่แปลกใจที่พบว่า พอพนักงานรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมที่ตำแหน่งเดียวกันได้เงินเดือนมากกว่า ต่างก็พากันหมดกำลังใจ การส่งอีเมลน้อยลง ใช้เวลาในออฟฟิศสั้นลง แถมผลงานยังแย่ลงเกือบสิบเปอร์เซ็นต์อีกด้วย ในงานวิจัยไม่ได้บอกไว้ว่าพนักงานกลุ่มนี้เกรี้ยวกราดมากน้อยแค่ไหน แต่ดูจากผลงานที่ออกมาก็คงเดาได้ไม่ยากใช่ไหมล่ะคะ

แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าเราเปลี่ยนจากการรู้เงินเดือนของคนระดับเดียวกัน เป็นการรู้เงินเดือนของหัวหน้าล่ะคะ จะเป็นอย่างไร?

งานวิจัยเดียวกันพบว่า คนส่วนใหญ่มักจะประเมินเงินเดือนของหัวหน้าต่ำไปประมาณ 14% แล้วพอรู้ว่าที่จริงแล้วหัวหน้าได้เงินเยอะกว่าที่คิด แทนที่คนจะเกรี้ยวกราด กลับมามีแรงบันดาลใจในการทำงานขึ้นมาเสียนี่ พอเรารู้ว่าหัวหน้าเราเงินเดือนเยอะ มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ถ้าเราขยันกว่านี้ พยายามกว่านี้ เราก็มีโอกาสได้เงินเท่านี้เหมือนกันแฮะ ปีนึงผ่านไปนักวิจัยพบว่าคนที่รู้เงินเดือนหัวหน้า มาทำงานในออฟฟิศนานขึ้น ส่งอีเมลเยอะขึ้น และทำยอดขายได้ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ

บริษัทอย่าง Buffer ที่เปิดเผยเงินเดือนให้คนในบริษัทรู้มาตั้งแต่ปี 2013 ก็ยอมรับว่าการทำแบบนี้มันไม่ได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ เกิดคำถามมากมายจากคนในทีม และสูตรคำนวนเงินเดือนก็มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง แต่คนในทีมเองก็ให้ผลตอบรับที่ดี หลังจากนั้น Buffer ยังตัดสินใจที่จะทดลองการเปิดเผยเงินเดือนไปอีกขั้น ด้วยการโพสต์เงินเดือนของทุกคนในทีมบนเว็บไซต์ของบริษัท พร้อมด้วยสูตรการคำนวน ให้ทุกคนลองคิดเองเลยว่า ถ้ามาทำงานที่นี่จะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ซึ่งหลังจากการเปิดเผยเงินเดือนแบบสาธารณะนี้ก็พบว่า จำนวนผู้สมัครงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเลยทีเดียวค่ะ

เปิดเผยเงินเดือนแล้วจะดีอย่างไร?

เป็นธรรมดาในการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ความไม่แน่นอนใจอาจจะเกิดขึ้นได้ ทีนี้เรามาลองดูกันดีกว่าค่ะ ว่าการเปิดเผยเงินเดือนในบริษัทอาจจะส่งผลดีอะไรได้บ้าง

  • กระตุ้นการพัฒนาของพนักงาน
    บริษัทอย่าง SumAll ที่เริ่มลองแชร์เงินเดือนให้คนในบริษัทรู้ได้บอกว่า พอคนเห็นว่าคนในแผนกอื่นได้เงินเดือนเยอะ ก็มักจะเกิดแรงกระตุ้นให้พนักงานพัฒนาสกิลใหม่ ๆ แบบที่ทีมอื่นหรือคนอื่นมี เพื่อที่จะได้ผลตอบแทนแบบนั้นบ้าง ซึ่งก็เป็นผลดีกับบริษัทอย่างไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ
  • เพิ่มความไว้เนื้อเชื่อใจและกำลังใจการทำงาน
    ที่ Buffer พวกเขาทดลองแล้วพบว่า การที่พนักงานเห็นว่าบริษัทมีความโปร่งใสในการคำนวณเงินเดือนของพนักงาน และเปิดโอกาสให้มีการตั้งคำถามและถกเถียงกันได้นั้น ทำให้พนักงานเกิดความไว้วางใจในบริษัทและทีมงานมากขึ้น รวมทั้งมีกำลังใจในการทำงานที่ดีขึ้นอีกด้วยค่ะ
  • กระบวนการจ้างงานและประเมินผลงานจะมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมมากขึ้น
    ความเหลื่อมล้ำในการจ่ายผลตอบแทนให้พนักงาน ที่มีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ เพศ สีผิว และอื่นๆ ยังเป็นเรื่องที่เกิดขี้นได้ในสังคมทุกที่ เหมือนที่เรามักจะเห็นว่า พนักงานระดับเดียวกันที่เป็นคนต่างชาติมักมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าพนักงานที่เป็นคนไทย หรือในต่างประเทศ พนักงานผิวสีมีโอกาสได้ผลตอบแทนน้อยกว่าพนักงานผิวขาว แต่หากว่าพนักงานมีความสามารถ และสร้างคุณค่าให้กับบริษัทได้ไม่ต่างกัน ผลตอบแทนที่ได้รับก็ควรจะไม่ต่างกัน ดังนั้นการเปิดเผยเงินเดือนนี้ จะทำให้บริษัทมีโอกาสทบทวนเกณฑ์การประเมินพนักงานจากความสามารถที่แท้จริง และยังเป็นการสร้างพลังการต่อรองให้กับทุกคน ให้ได้รับผลตอบแทนที่แฟร์ตามความเป็นจริงด้วยค่ะ

เริ่มตอนไหนดี? แล้วต้องระวังอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าความกังวลใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกการตัดสินใจก็ต้องมาพร้อมกับ Trade-off ที่เราต้องคำนึงถึงและเตรียมตัว ที่จริงแล้ว ถ้าจะรอให้ถึงวันที่พร้อมจริง ๆ ก็คงยากถ้าเราจะพร้อมได้ 100% ไม่ว่าอย่างไร ก็อยากให้ลองคิดถึงเรื่องหลัก ๆ ตามนี้ดูค่ะ

  • วัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมและเข้มแข็ง
    ลองดูว่าพนักงานในบริษัทของคุณ พร้อมที่เปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ หรือไม่ เช่น เวลาที่คุณ​ทดลองใช้กฎระเบียบใหม่ ๆ พนักงานมีการตอบรับอย่างไรบ้าง หากพนักงานส่วนใหญ่มีอายุค่อนข้างมาก หรือว่ามีวัฒนธรรมการทำงานที่ค่อนข้าง Conservative ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจ หรือว่าชะลอแนวคิดนี้ไว้ก่อนนะคะ
  • โครงสร้างผลตอบแทนที่โปร่งใสพร้อมรับคำถาม
    ถ้ามีการเปิดเผยเงินเดือนกันขึ้นมา คำถามต่าง ๆ ก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ก่อนที่จะมีการเปิดเผย บริษัทต้องแน่ใจก่อนว่า สามารถตอบพนักงานได้ว่า ผลตอบแทนเท่านี้เกิดมาเพราะอะไร บริษัทมีการประเมินโดยใช้ปัจจัยอะไรบ้าง และหากพนักงานต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติม จะต้องปรับปรุงและพัฒนาตรงไหนบ้าง
  • เปิดใจและทดลอง
    การเปิดเผยเงินเดือนไม่มีแนวทางที่ตายตัว บางบริษัทเลือกที่จะเปิดเผยเป็นสาธารณะ บางที่เลือกเปิดเผยแค่ภายใน หรือจะเลือกเปิดเผยเป็นช่วงกว้าง ๆ ก็ได้ การจะเลือกใช้แนวทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัทเองด้วย และที่สำคัญ​บริษัทควรทดลองในระดับเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน แล้วดูผลตอบรับจากพนักงาน แทนที่จะพรินต์เงินเดือนทุกคนมาแปะหน้าออฟฟิศแบบที่ลองคิดกันตอนแรก เช่น อาจจะลองเปิดเผยเป็นช่วงเงินเดือนผ่านหน้ารับสมัครงานของบริษัทก่อน แล้วดูผลที่เกิดกับการจ้างงานและพนักงานในปัจจุบัน จากนั้นค่อยปรับแนวทางไปเรื่อย ๆ ค่ะ

ดีลกับตัวเองยังไง ในวันที่เงินเดือนไม่ใช่ความลับอีกแล้ว?

ถ้าเรามาดูเทรนด์กัน จะพบว่าเทรนด์การเปิดเผยเงินเดือนนั้นเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ กว่า 50% ของบริษัทมีการเปิดเผยช่วงเงินเดือน หรือมีแผนจะเริ่มทำภายในห้าปีนี้แถมคนรุ่นใหม่วัยมิลเลนเนียลก็ยังสบายใจจะคุยเรื่องเงินเดือนกับเพื่อนร่วมงานมากกว่าคนรุ่นเก่าถึงสี่เท่า ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งบริษัทของคุณจะเริ่มเปิดเผยเงินเดือนขึ้นมาบ้าง แล้วแบบนี้ในมุมพนักงานเราควรทำอย่างไรดีล่ะ?

  • ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะมองคุณยังไง
    คนเรามักจะกลัวว่าคนอื่นจะคิดกับเราอย่างไรบ้าง ถ้าคนอื่นรู้ว่าเราได้เงินเท่านี้ จะคิดว่าเราได้เยอะไปหรือเปล่านะ? หรือจะมองว่าเราเป็นคนต่ำต้อยด้อยค่ากับเงินเดือนที่ไม่ควรให้ราคา ที่จริงแล้วทุกคนต่างก็มัวแต่สนใจเรื่องตัวเองทั้งนั้น ส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่ได้สนใจเรื่องราวในชีวิตของคนอื่นเลยด้วยซ้ำ การทดลองพบว่าเราจะจำเรื่องที่คนอื่นพูดได้เพียงแค่ 25% ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องนี้เลย
  • เรียนรู้จากคนที่ได้เงินมากกว่า
    ใช้ความข้องใจที่อาจจะเกิดขึ้นให้เป็นแรงผลักดันในตัวคุณ ลองสังเกตดูว่าคนที่เขาได้เงินเดือนเยอะกว่าคุณ เขาทำอะไรที่ต่างจากคุณบ้าง เขาพัฒนาตัวเองแบบไหน มีสกิลอะไร และสร้างคุณค่าอะไรให้กับทีม แล้วนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ให้คุณดีขึ้นในทุกวัน หรือถ้าสุดท้ายแล้ว คุณพบว่าโครงสร้างที่เป็นอยู่มันไม่แฟร์ อย่างน้อยคุณก็มีข้อมูลไปคุยกับหัวหน้าเพื่อหาเหตุผล หรืองานหางานใหม่ได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
  • เห็นใจและช่วยเหลือคนอื่น
    แน่นอนว่าจะมีบางคนที่ได้เงินเดือนน้อยกว่าคุณ ลองใช้เวลานี้เพื่อรับฟังและเข้าใจเพื่อนร่วมงานที่คุณมี และดูว่าคุณสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เช่น ถ่ายทอดความรู้และทักษะให้แก่กัน หรือแนะนำคอร์สเรียนดี ๆ ที่คุณเคยเรียน เชื่อเถอะว่าการช่วยเหลือคนอื่น สุดท้ายแล้วจะกลับมาเป็นผลดีกับตัวคุณอย่างแน่นอน

ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออย่างไรก็ตาม โลกของเรากำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเงินเดือนก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะเป็นพลังให้คุณพูดคุย ต่อรองและสื่อสารได้อย่างมั่นใจ แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ มาแชร์กันได้นะ 🙂

ปล. วันนี้อยากจะฝากไว้กับเคล็ดลับในการเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้น เพียงแค่เดิมไม้ตรีลงไป คุณก็จะได้เพิ่มเป็นเงิ๊นเดื๊อน (ซู๊งสูง)

บทความโดย: คุณชลากร เบิร์ก
Product Owner at 30 Seconds to Fly

Related Articles

บทสัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟกับคุณ Johnny Ng จาก หนังสือพิมพ์ฮ่องกง South China Morning Post

ในวันงาน CTC2020 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งใน speaker สำคัญที่บินตรงมาจากฮ่องกง คุณ Johnny Ng (จอนนี่ เอง)…

Article | Digital marketing

BrewGel เจลล้างมือโดย BrewDog คราฟต์เบียร์ที่ตั้งใจช่วยเหลือทุกคนให้ปลอดภัยมากที่สุด(เท่าที่จะมากได้!)

“You can’t find peace by avoiding life เราไม่สามารถจะมีสันติสุขได้ถ้าเราละเลยการอยู่รอดของผู้คน”  ประโยคดังกล่าวคือปณิธานของ Nils…

Article | Creative/Design | Uncategorized

End of the walk way : ลายแทง งานสบายที่สุดในโลก

ใครอยากทำงานสบาย วันนี้มีอาชีพมาแนะนำ เป็นอาชีพที่ส่วนตัวดูแล้วว่าน่าจะ “สบายที่สุดในโลก” อาชีพนี้ไปเห็นมาที่เมืองเชนไน (Chennai) ประเทศอินเดีย … แม้ว่าเชนไน อาจจะเป็นชื่อเมืองที่ชื่อไม่คุ้นหูเหมือนเมืองเลห์-ลาดักฮ์,…

Article | End of The Walk Way
Donec venenatis diam neque. felis massa amet, vulputate, id ipsum tristique