Trending News

Subscribe Now

การกลับมาของ Drive-In Theater โรงหนังกลางแจ้งที่รักษาระยะห่างระหว่างชมภาพยนตร์

การกลับมาของ Drive-In Theater โรงหนังกลางแจ้งที่รักษาระยะห่างระหว่างชมภาพยนตร์

Article

แล้วชีวิตของทุกคนก็เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เมื่อโรคระบาดลุกลามไปทั่วโลก คุกคามความเป็นอยู่ของเราจนต้องปรับทั้งวิถีการทำงาน การกิน และการอยู่ภายในเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์นี้จะจบลงอย่างไร แต่มนุษยชาติไม่เคยแล้งความคิดสร้างสรรค์ โจทย์ใหญ่อย่างการเว้นช่องว่างทางสังคม (Social Distancing) ที่ทุกคนต้องรักษาระยะห่างระหว่างกัน ทำให้เกิดไอเดียสนุกๆ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เราคงยากจะได้เห็นในช่วงเวลาปกติ

ท่ามกลางกระแสหวาดวิตกของวงการภาพยนตร์ที่ไม่สามารถออกกองได้ โรงภาพยนตร์ถูกสั่งปิดทั้งหมด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 แต่ใช่ว่าจะมีเพียงธุรกิจ Streaming เท่านั้นที่กลายเป็นที่พึ่งทางความบันเทิง เพราะการชมภาพยนตร์ที่ Drive-In Theater หรือโรงหนังกลางแจ้งเปิดให้ผู้ชมขับรถยนต์ส่วนตัวมาจอดชมภาพยนตร์ ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าจับตา

Driver In Theater โรงหนังกลางแจ้ง

Drive-In Theater เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 87 ปีที่แล้ว เพราะความจำเป็นเช่นเดียวกันกับทุกวันนี้ Richard M. Hollingshead, Jr. ลูกชายเจ้าของบริษัทอะไหล่รถยนต์ที่หลงใหลภาพเคลื่อนไหวบนจอเงินและรถยนต์พอๆ กัน เห็นว่าแม่ของเขาตัวใหญ่เกินกว่าจะนั่งเก้าอี้โรงภาพยนตร์ทั่วไปได้ เขานำผ้าปูมาขึงระหว่างต้นไม้ ฉายหนังกลางแจ้งให้แม่นั่งดูในรถ ไอเดียง่ายๆ นี้เป็นไปได้สวย เขาตัดสินใจพัฒนารูปแบบและวิธีการอย่างต่อเนื่องนานนับปี จนมองเห็นความเป็นไปได้ของโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่เคยพบเห็นที่ไหน หลังจากจดลิขสิทธิ์ได้ราวหนึ่งเดือนก็เริ่มเปิดฉายอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 มิถุนายน 1933 ที่เมือง Camden รัฐนิวเจอร์ซีย์ โดยเก็บเงินผู้เข้าชมคนละ 25 เซนต์ และค่าเข้าสำหรับรถยนต์ในราคาเท่ากัน โดยโฆษณาให้เห็นข้อดีว่า นี่คือการชมภาพยนตร์สำหรับทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าลูกของพวกคุณจะเสียงดังแค่ไหน ก็ไม่ถูกเขม่นจากคนข้างๆ เหมือนเวลาอยู่ในโรงภาพยนตร์ทั่วไป

การฉายภาพยนตร์รูปแบบนี้ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในช่วง 20 ปีต่อมา ทั่วสหรัฐอเมริกามี Drive-In Theater มากถึง 4,000 แห่ง กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล ในช่วงแรกระบบเสียงยังไม่ดีนักเพราะใช้ลำโพงจากแหล่งเดียว แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ก็สามารถปล่อยเสียงออกจากลำโพงรถแต่ละคันได้ ผ่านคลื่นวิทยุ FM เช่นเดียวกับการมาถึงของแอร์คอนดิชันและฮีตเตอร์ภายในรถจึงทำให้จัดฉายภาพยนตร์ได้ตลอดทั้งปี ทำให้ Drive-In Theater ไม่ต้องเปิดบริการเฉพาะช่วงฤดูร้อนที่มีสภาพอากาศเป็นใจเพียงฤดูเดียวอีกต่อไป

Driver In Theater โรงหนังกลางแจ้ง

Drive-In Theater กลายเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวมาใช้เวลาวันหยุดทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างรอพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นเวลาที่ภาพยนตร์จะเริ่มฉาย หนุ่มสาวได้มีเดตโรแมนติกแบบเป็นส่วนตัวในราคาที่เอื้อมถึง ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย แต่ในเมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงส่งผลต่อเนื่องถึงกัน ทันทีที่ธุรกิจหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกหลายธุรกิจก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 ส่งผลให้คนเลือกที่จะประหยัดน้ำมันด้วยการหันมาใช้รถยนต์คันเล็กลง จึงไม่สะดวกสบายที่จะนั่งเบียดกันมองจอนิ่งๆ เป็นเวลาสองชั่วโมงอีกต่อไป ประกอบกับการเข้ามาของ VHS ที่ส่งตรงความบันเทิงตามใจชอบถึงในบ้าน ทำให้โรงหนังกลางแจ้งเหล่านี้ค่อยๆ จางหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นก่อน ไม่อาจเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผู้ไม่เคยได้มีประสบการณ์ร่วม จึงต่างทยอยปิดตัวลงไปอย่างน่าเสียดาย

จนกระทั่งวิกฤต Covid-19 เกิดขึ้น ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก วิถีชีวิตเดิมๆ ถูกพลิกกลับให้ทุกคนต้องอยู่แต่ในพื้นที่ของตัวเอง ทำให้ทุกคนต้องหันกลับมาทบทวนว่าอะไรบ้างที่สำคัญต่อชีวิต อะไรคือสิ่งที่เรายังมีอยู่ และอะไรที่เราอาจจะเคยลืมไป นี่จึงเป็นเหตุให้ Drive-In Theater ได้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้ง เพราะตอบโจทย์ทั้งความบันเทิงที่หล่อเลี้ยงจิตใจในสภาวะอันน่าหวาดหวั่น และตอบรับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้อย่างพอดิบพอดี ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาประเทศต้นตำรับยังคงเปิดให้บริการอยู่ราว 300 กว่าแห่ง ก็กลับมาคึกคักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่มีมาตรการเข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับความสะอาดของห้องสุขาที่ต้องใช้ร่วมกัน และเปลี่ยนจากการใช้ตั๋วกระดาษมาเป็นตั๋วบนสมาร์ตโฟนแทนเพื่อลดการสัมผัส ส่วนเกาหลีใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลอเมริกันมาเต็มๆ ก็มีการต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อตั๋วเข้าชมจนหมดเกลี้ยงในวันเสาร์-อาทิตย์ หรือแม้กระทั่งในสหราชอาณาจักรที่แม้จะมีจำนวนโรงไม่มากนัก แต่ก็กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน มี Drive-In Theater เปิดใหม่ที่แมนเชสเตอร์เจาะกลุ่มภาพยนตร์ฟีลกู๊ดสำหรับครอบครัวที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูด้วยโดยเฉพาะ

นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ เรายังมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่นเดียวกับ Drive-In Theater ได้รับโอกาสเกิดใหม่อีกครั้งเพื่อเติมเต็มช่องว่างที่เรารักษาระยะห่างซึ่งกันและกันชั่วคราว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับตัวได้รวดเร็วว่องไว และเข้าใจผู้ชมในยุคปัจจุบันได้มากกว่ากัน

อ้างอิง :

  • https://www.thoughtco.com/history-of-drive-in-theaters-4079038
  • https://www.nyfa.edu/student-resources/the-history-of-drive-in-movie-theaters-and-where-they-are-now
  • https://www.manchestereveningnews.co.uk/whats-on/film-news/drive-cinema-coming-manchester-screen-17958405
  • https://www.nytimes.com/2020/03/24/style/drive-in-theaters-coronavirus.html
  • https://www.albawaba.com/slideshow/south-koreans-enjoy-drive-cinemas-seoul-1346281
  • https://www.usnews.com/news/best-states/articles/2020-03-19/states-that-offer-the-most-drive-in-movie-theaters
  • https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/the-history-of-the-drive-in-movie-theater-51331221

เรื่อง : สุวิชา 
ภาพ : Thomas Hawk จาก flickr.com, Jamsil Automotibe Theater,
Freedom Car Theater

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

Rothy’s รองเท้าเก่าขายคืนได้ ต่อยอดไอเดียรีไซเคิล

ใครมีรองเท้าล้นตู้ อยากได้คู่ใหม่มาเพิ่ม แต่คู่เก่าก็ยังเหลืออยู่ ต้องรู้จักกับแบรนด์นี้เลย “Rothy’s” แบรนด์รองเท้าจากซานฟรานซิสโก ให้คุณนำรองเท้าไปขายคืนกับทางแบรนด์เมื่อใช้จนเบื่อหรือใช้จนเก่าแล้ว เพราะแบรนด์นี้มีความ eco-friendly ผลิตรองเท้าจากขวดน้ำพลาสติก โดยผ่านกระบวนการทอเป็นเส้นใยด้วยเครื่องทอ 3D จนกลายมาเป็นรองเท้าสุดชิค นุ่มสบาย…

Article | Digital marketing

“Spark Post” แอปฯ ทำภาพ ตอบโจทย์ชาว Content

“Spark Post” จาก Adobe แอปพลิเคชั่นเจ๋ง ๆ ที่จะมาช่วยในการทำภาพประกอบคอนเทนต์ได้สะดวกสบายเพียงปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งความพิเศษก็คือ มีภาพฟรีให้ใช้จาก Unsplash มี…

Article | Technology

เมื่อภาวะหมดไฟไม่ได้เลือกตำแหน่ง และความเบื่อไม่ได้เลือกวัย

Burnout หรือที่ก่อนหน้านี้เราเรียกกันว่า ภาวะ “หมดไฟ” การทำงาน ยังคงเป็นที่พูดถึงในหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการหมดไฟ หรือจะทำอย่างไรให้ไฟของความสนุกสนานในการทำงานถูกจุดติดอีกครั้ง หลายครั้งเรามองว่า ภาวะหมดไฟนี้มักเกิดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่…

Article
sed pulvinar commodo Donec eleifend felis velit, quis,