Trending News

Subscribe Now

ทำการตลาดบน Facebook ยังได้ผลอยู่ไหม?

ทำการตลาดบน Facebook ยังได้ผลอยู่ไหม?

Article | Digital marketing

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารการตลาดดิจิทัลช่วงหลังมานี้คงได้เห็นข่าวแย่ ๆ ของ Facebook กันมาบ้างนะครับ ทั้งเรื่องราคาโฆษณาที่แพงขึ้น เรื่อง Algorithm ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรื่อง Organic reach ที่แทบเป็นศูนย์ เรื่องการจัดการข้อมูลของผู้ใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือกระทั่งประโยค “Future is Private” ของพี่มาร์ก และอีกหลาย ๆ เรื่อง นี่ยังไม่รวมกระแสของการสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองมากกว่าจะฝากทุกอย่างไว้ที่ Facebook นะครับ

จึงมีคำถามว่า การทำการตลาดบน Facebook ยังได้ผลอยู่ไหม?
เรายังจำเป็นและควรต้องมี Facebook อยู่ในแผนการตลาดของเราอีกไหม? 

แม้มีหลายเรื่องที่ต้องเป็นห่วงสำหรับการทำ Marketing แต่ก็ยังมีหลายเหตุผลที่ยืนยันครับว่า Facebook ยังคงใช้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ มีคุณค่าที่จะอยู่ในแผนการตลาดดิจิทัลของเราต่อไป ผมขอยกเหตุผล 5 ข้อหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ครับ

1. Facebook ช่วยให้เราเข้าถึงคนไทยสาย Social ได้เยอะที่สุด พร้อมกับระบบ Targeting ที่แม่นยำ

ด้วยตัวเลขผู้ใช้งาน 53 ล้านบัญชี Facebook จึงเป็น Social network ที่มีผู้ใช้งานเยอะที่สุดในไทย (แถมเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เรามีจำนวนประชากรบน Facebook เป็นอันดับที่ 8 ของโลก!)

การตลาดบน Facebook
ข้อมูลจาก BrandAge Online x Wise Sight
การตลาดบน Facebook
ข้อมูลจาก We Are Social

ด้วยตัวเลขนี้ทำให้การเข้าถึงหรือ Reach ของ Facebook นั้นเยอะจนเป็นไปไม่ได้เลยนะครับที่จะไม่ทำการตลาดผ่าน Facebook โดยเฉพาะกลุ่ม 18-44 ปี ที่มีกำลังซื้อและใช้ชีวิตอยู่บน Social เป็นประจำ

แน่นอนว่าในแต่ละ Campaign เราต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชัด ๆ แค่กลุ่มเดียว ไม่ได้ต้องการจะคุยกับคนทั้ง 53 ล้านคน ซึ่ง Facebook เองก็มีเครื่องไม้เครื่องมือด้าน Targeting ที่เรียกว่ามีประสิทธิภาพและทรงพลังมาก ๆ ไม่ใช่เฉพาะข้อมูลประเภท Demographic อย่าง เพศ อายุ ภาษา ที่อยู่ เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีข้อมูลที่จับจากพฤติกรรมการใช้งานตามความสนใจและการใช้ชีวิตบนออนไลน์ต่าง ๆ ของทุกคนอีกด้วยครับ

นอกจากนั้นถ้าเรามีข้อมูลลูกค้า (ที่มอบความยินยอมในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลส่วนตัว) เราสามารถนำไปสร้าง Custom audience และต่อยอดไปทำ Lookalike audience (หรือกลุ่มคนที่มีความใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างของเรา) ได้อีกด้วยครับ 

ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Facebook จะโดนตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้เพื่อการโฆษณา (ซึ่งทาง Facebook เองก็ออกหลาย ๆ มาตรการเพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการนำเสนอโฆษณาและมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ ที่มอบทางเลือกกับผู้ใช้งาน) แต่ผมคิดว่า ตราบใดที่ยังมีคนไทยจำนวนมากที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในที่แห่งนี้และใช้งานโดยสมัครใจ บวกกับการมีเครื่องมือในการเข้าถึงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องปกติที่นักการตลาดอย่างเรายังต้องมี Facebook อยู่ในแพลนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

2. Facebook ยังช่วยเรื่อง Conversion และ Lead Generation ได้ดีมาก ๆ

การตลาดดิจิทัลในยุคนี้แค่ทำ Awareness campaign เพียงอย่างเดียวไม่ดีพออีกต่อไปครับ การทำให้เกิดยอดขายหรือการลงทะเบียนหรือเป้าหมายทางธุรกิจอื่น ๆ เป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ ซึ่งนักการตลาดสามารถคำนวณความคุ้มค่าในการลงทุนทางการตลาดและโฆษณาได้ ถ้าไม่นับ Search Ads ของ Google ก็มี Facebook นี่ละครับที่เป็นช่องทางทำ Conversion ได้ดีอันดับต้น ๆ เลย

นอกจากนั้น การทำ Lead generation campaign หรือที่นักการตลาดไทยเรียกกันว่า “เก็บ Lead” ก็มี Facebook และ App ในเครือนี่ล่ะครับที่ช่วยหากลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับ Campaign ของเราได้

แต่ช้าก่อน! ไม่ใช่ว่า Facebook เป็นเครื่องมือวิเศษที่เสก Conversion กับ Lead ให้ได้ทันทีนะครับ มันต้องมาพร้อมกับงาน Creative (ภาพ วิดีโอ และข้อความ) ที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และการตั้ง Targeting ที่ยอดเยี่ยม รวมถึงตัวสินค้าและบริการเองก็ต้องดีพอด้วยครับ

3. Facebook ไม่เป็นรองใครเรื่อง “แชตเพื่อชอป”

ถือว่าเป็นเรื่องปกติของบ้านเราไปแล้วนะครับ กับการซื้อของผ่าน Social ด้วยการแชตคุยกับแม่ค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นทาง Line หรือ Facebook Messenger ขั้นตอนที่เห็นกันทั่วไปคือ ร้านค้าโพสต์สินค้าลงบน Facebook หรือ Instagram คนที่สนใจก็ทักเข้าไปเพื่อเริ่มการซื้อขาย วิธีการซื้อขายแบบนี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ‘Conversational Commerce’ และจากข้อมูลที่ Facebook แชร์ในงาน APAC Partner Summit 2019 เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาระบุว่ามูลค่า Conversational Commerce ในประเทศไทยนั้นมีมากถึง 4.8 พันล้านเหรียญเลยทีเดียว!

การตลาดบน Facebook

การแชตดังกล่าวไม่ได้จำกัดแค่การใช้แอดมินเป็นคนตอบและพูดคุย แต่ยังรวมถึงการใช้ Chatbot ตอบโต้เพื่อส่งลิงก์เข้าเว็บไซต์ E-commerce ด้วยครับ นอกจากนั้นทั้ง Facebook และ App ในเครืออย่าง Instagram ก็ต่างทยอยเปิดระบบจ่ายเงินบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แบบไม่ต้องออกไปใช้ระบบข้างนอกเลย ทำให้ยิ่งสะดวกในการชอปเข้าไปใหญ่เลยครับ ดังนั้นถ้าไม่อยากพลาดโอกาสขายของผ่านการแชต เรายังคงต้องมีหน้าร้านบน Facebook และทำการตลาดนำเสนอสินค้า ดึงดูดความสนใจจากลูกค้ากันต่อไปนะครับ

4. Facebook คือ ช่องทางที่รับเรื่องร้องเรียนชั้นดี

ลองถามตัวเองว่า วันนี้ถ้าคุณได้รับการบริการแย่ ๆ จากพนักงาน หรือซื้อสินค้ามาแล้วพบว่ามีปัญหาจากการผลิต ช่องทางแรกที่คุณจะนึกถึงเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนคือช่องทางไหนครับ? Call Center เว็บไซต์ หรือ Facebook? หลายคนอาจจะลืมไปครับว่าการดูแลความคิดเห็นและเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคออนไลน์ก็ถือว่าเป็นการทำการตลาดอย่างหนึ่ง เพราะหากเราปล่อยให้มีคนที่ไม่พอใจเยอะ ๆ เวลาที่คนสนใจสินค้าของเราแล้วค้นหาข้อมูล แต่กลับพบเฉพาะเรื่องแย่ ๆ ที่ผู้บริโภคคนอื่นพูดถึงแบรนด์และสินค้าของเรา มันจะมีผลเสียกับแผนการตลาดของเราพอสมควรเลยครับ ดังนั้นการมีขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคบน Facebook สำคัญมากนะครับ เราให้พวกเขามาร้องเรียนกับเราเองโดยตรงดีกว่าปล่อยให้เขาไปตั้งกระทู้ที่อื่น เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่จำเป็นเรื่องหนึ่งของการทำ Marketing ยุคนี้เลยครับ

5. “Future is Private” ดีทั้งสำหรับผู้ใช้งานและนักการตลาด

private community facebook

ประโยคเด็ดจากงาน F8 ที่ CEO มาร์ก พูดในงาน พร้อมย้ำว่า Facebook และ App ในเครือจะเน้นเรื่อง Private community มากขึ้น และมีการยกตัวอย่างครับว่าก่อนหน้านี้ Facebook เป็นเหมือนศาลากลางของเมือง (Town square) ที่ทุกคนมารวมตัวกันและพูดคุยกันแบบเป็นสาธารณะ แต่ต่อไป Facebook จะเปลี่ยนเป็นห้องนั่งเล่นที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ แบบส่วนตัวแทนครับ ซึ่งพอมีข่าวนี้ออกมาหลายคนสงสัยครับว่า ในแง่การลงโฆษณาบน Facebook ต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ถ้าทุกการพูดคุยและเชื่อมต่อกันของผู้ใช้งานเป็นแบบ Private หมด นักการตลาดจะเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างไร?

ไม่ต้องห่วงไปครับ ตอนนี้มีการเทส Ads ใน Facebook group ซึ่งคาดว่าไม่นานต่อจากนี้น่าจะออกมาให้ได้ใช้งานกัน รวมถึง Ads placement ใน Messenger ก็มีมาสักพักแล้วครับ จึงเชื่อได้ว่าต่อไปแม้ Conversation ต่าง ๆ จะย้ายไปอยู่ในที่ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เราก็ยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ แถม Targeting จะยิ่งแม่นยำเข้าไปอีกครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นสินค้าอาหารแมวต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เลี้ยงแมว คนที่อยู่ใน Group คนรักแมว ก็แม่นยำสุด ๆ ไปเลยครับ

เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลนะครับ ที่ Facebook ต้องพยายามปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อดึงให้ผู้ใช้งานอยู่ในระบบของตัวเองต่อไปเรื่อย ๆ และใช้เวลากับมันอย่างสม่ำเสมอ เพราะ Facebook เองก็เสียกลุ่มวัยรุ่นไปให้กับ Twitter ไปเยอะแล้ว ดังนั้นการปรับเปลี่ยนอะไรก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานก่อนนักการตลาดและผู้ลงโฆษณาเสมอครับ เพราะอะไร? เพราะถ้าเมื่อ Facebook ดึงให้คนอยู่ในระบบได้ การจะเปิดให้นักการตลาดมาใช้ช่องทางและเครื่องมือต่าง ๆ ของเขาภายหลังไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ 

ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยจำนวนมากยังคงใช้เวลาอยู่บน Facebook อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องแบบทุกวันนี้ การตลาดบน Facebook ก็จะยังคงได้ผลตราบนานเท่านั้นครับ

บทความโดย: คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา
Chief Digital Officer & Cofounder at The Flight 19 Agency

บทความที่เราแนะนำ

Related Articles

Brand Purpose บทเรียนจากภาพยนตร์ไทยที่มีผลต่อความเชื่อของผู้บริโภค

ในตอนนี้ประเทศในโลกของ Social นั้นมีกระแสหนึ่งเข้ามาวนเวียนอยู่เป็นระยะใน Timeline ของผมนั่นก็คือเรื่องภาพยนตร์ไทยเรื่องหนึ่ง ที่นักแสดงนำของเรื่องนั้นได้ออกมาวิจารณ์เรื่องการเมืองก่อนทื่ภาพยนตร์จะเข้าฉาย และข้อความนั้นกระทบกับกลุ่มของประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของขั้วการเมืองนั้น ๆ เลยส่งผลให้ภาพยนตร์ดังกล่าวเมื่อเข้าฉายกลับกลายเป็นว่าทำรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก นี่คือตัวอย่างอันดีของกรณีศึกษา…

Article | Digital marketing
justo quis mattis tristique efficitur. elementum