หนึ่งในปัญหาที่คนยุคปัจจุบันพบเจอและยังมีผลต่อเนื่องไปยังคนรุ่นหลังต่อๆ ไป นั่นคือ ปัญหาของทรัพยากรโลกที่มีอย่างจำกัดและลดลงทุกที อันเนื่องมาจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกใช้ไปกับคนรุ่นก่อน ๆ นำไปสู่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อย่างที่เคยถูกกล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ เรื่อง Subscription Economy โมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ชีวิตของคนรุ่นใหม่
ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงสัญญาณของวิกฤตินี้ จึงทำให้เกิดกระแสหนึ่งที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในปี 2019 ที่ผ่านมา คือ Sustainbility หรือแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จนกลายเป็นวาระสากลที่หลายประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก ทุกคนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลด ละ เลิก การใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดขยะและทำลายสิ่งแวดล้อม จนเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่บูมที่สุดในปี 2019 และมีแนวโน้มว่าจะเป็นเทรนด์ต่อไปในปี 2020 นี้อีกด้วย
เหมือนเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กักตุนอาหารและสินค้า เพราะกลัวว่าจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ท้ายสุดแล้วสิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตของมนุษย์ยังคงเป็นเรื่องปัจจัย 4 อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
เพราะฉะนั้นเราเห็นว่าปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาเรื่องของการเกษตรการทำสวนแบบอัจฉริยะ หรือที่เรียกว่า Smart Farming คือการนำเทคโนโลยี เช่น การใช้ Big Data, ระบบ Automation และ Smart Logistic เข้าเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตฟาร์มในพื้นที่จริง เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงที่เกิดจากผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Smart Farming ได้ในบทความ : ลบภาพจำ เกษตรกรรมแบบเดิม ๆ กับ 3 เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech))
แต่ปัญหาคือไม่ใช่ทุกคนที่จะสะดวกทำแบบนี้ได้ เพราะข้อจำกัดเรื่องพื้นที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงเกิดเป็นไอเดียหนึ่งขึ้นมา คือ “Planty Cube” การทำไฮโดรลิกฟาร์มในแนวตั้ง ด้วยดีไซน์กระถางแบบตัวต่อ LEGO เป็นไอเดียจาก N.Thing สตาร์ทอัพ AgriTech จากเกาหลีใต้ โดยเป็นผลงานที่ไปคว้ารางวัล Innovation Award จากงาน Consumer Electronics Show 2020 (CES2020) มาอีกด้วย
ซึ่งจุดประกายไอเดียนี้เกิดจากบล็อกตัวต่อของ LEGO โดยนำมาออกแบบเป็นกระถางทรงลูกบาศก์สำหรับปลูกพืชแต่ละต้น ซึ่งมีขนาดความกว้าง x สูง x ลึก ที่ 2 นิ้ว และทำการปลูกเรียงกันแนวยาวบนชั้นซึ่งสามารถซ้อนกันในแนวตั้ง ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูก
โดยฟาร์มนี้จะทำการปลูกในพื้นที่ปิดที่ไม่ต้องใช้บริเวณกว้างมาก อย่างในโปรเจกต์นี้เขาใช้ตู้คอนเทนเนอร์สำหรับจำลองสภาพแวดล้อมเพื่อปลูกขึ้นมา โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะกับการเพาะปลูกพืชชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความชื้น และแสง ซึ่งมีการใช้แสงจากหลอดไฟ LED ทดแทนการใช้แสงจากธรรมชาติ อีกทั้งตัวกระถางปลูกเองจะมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดของพืช เพื่อที่จะควบคุมการดูแลต่าง ๆ ผ่านสมาร์ตโฟนในระยะไกล โดยที่เราไม่ต้องมาคอยดูแลเองตลอดเวลา ช่วยลดภาระด้านเวลาและต้นทุนต่าง ๆ ที่จะต้องจ่าย
ในยุคที่ทรัพยากรโลกเริ่มเสื่อมโทรมและมีให้ใช้อย่างจำกัดลงไปทุกที ๆ แนวคิดของการทำระบบฟาร์มแนวตั้งอัจฉริยะอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งที่เราเจอกันในทุกวันนี้จากการทำสวน ทำฟาร์มแบบดั้งเดิม ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ทางอากาศ และอื่น ๆ ตามมา ด้วยการนำเทคโนโลยีแห่งภูมิปัญญาของคนยุคใหม่เข้าไปจัดการปัญหาและพัฒนาให้เหมาะกับความเป็นอยู่ในยุคปัจจุบันได้ดีกว่าเดิมนั่นเอง
เรื่อง : ดวงพร วิริยา
ภาพ : nthing.net/FARM
อ้างอิง : designboom.com/technology/the-planty-cube-vertical-farming-system-ces-01-14-2020/