Trending News

Subscribe Now

ฝึกคิดแบบนักออกแบบ: 3 ทักษะของนักออกแบบที่คนที่ไม่ใช่ Designer ควรมีในทศวรรษที่ 20

ฝึกคิดแบบนักออกแบบ: 3 ทักษะของนักออกแบบที่คนที่ไม่ใช่ Designer ควรมีในทศวรรษที่ 20

Article | Creative/Design

คุณคิดว่าทักษะที่เหล่านักออกแบบเขามีกันคืออะไร?

วาดรูปสวย? เลือกของใช้ได้อย่างมีรสนิยม? จะหยิบจับอะไรก็ดูเข้ากันไปหมด? ทำ Presentation สวยเป๊ะทุกระเบียบนิ้ว? ฯลฯ

ทักษะที่กล่าวมาด้านบนนั้นเราเรียกว่าเป็นทักษะการนำเสนอ หรือ Presentation Skill ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดทักษะและกระบวนการคิดแบบนักออกแบบ

ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงถึงทักษะของนักออกแบบ ที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่ไม่ใช่นักออกแบบอย่างคุณ ได้ลอง “ขโมย” ไปใช้ในการทำงานดูค่ะ

1. ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ Creative Thinking

นอกจากวาดสวยแล้ว อีกความสามารถหนึ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่านี่ล่ะ คือทักษะที่นักออกแบบหรือศิลปินเท่านั้นถึงจะมีได้ นั่นก็คือ “ความคิดสร้างสรรค์”

ข่าวดีก็คือ นั่นคือความเข้าใจที่ผิด ความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking คือสิ่งที่ฝึกได้ ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิด

สตีฟ จ๊อบส์ บอกไว้ว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือคนที่สามารถต่อจุดเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ มาหลอมรวมเข้าด้วยกันได้เก่งกว่าคนอื่น ยิ่งมีจุดมากก็ยิ่งเชื่อมต่อจุดได้มาก

แล้วทำยังไงเราถึงจะเป็นคน Creative ที่สามารถต่อจุดได้เยอะ ๆ บ้างล่ะ? มีขั้นตอนง่าย ๆ 3 ขั้นตอนดังนี้

1.1. เลิกตีตราตัวเองว่า “ฉันมันไม่ creative เอาซะเลย”

บันไดขั้นแรกสู่การเป็นคน Creative ก็คือ เราต้องพยายามหยุดตีตราตัวเองว่า “ฉันนี่ไม่ Creative เอาเสียเลย” เพราะจริง ๆ แล้วความความคิดสร้างสรรค์ หาใช่เป็นพรสวรรค์เพียงอย่างเดียวไม่ แต่เป็นสิ่งที่ “สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้” ไม่ต่างจากการฝึกฝนในเรื่องอื่น ๆ

1.2. เพิ่ม ”วัตถุดิบ” หรือเรื่องราวความรู้ให้กับตัวเอง

การที่เราไม่สามารถติดต่อยอดอย่างที่คน Creative เขาคิดกันได้นั้น ไม่ได้แปลว่าเราคิดไม่เป็น แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่มี “วัตถุดิบ” ที่เพียงพอต่างหาก ซึ่งวัตถุดิบในที่นี้ นั้นหมายถึงความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่ควรมีหลากหลายไม่ควรกระจุกอยู่แค่หัวข้อใดหัวข้อเดียว

การท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ การพบเจอผู้คนใหม่ ๆ การเปลี่ยนบรรยากาศในชีวิตประจำวันที่จำเจ (เช่น เปลี่ยนร้านกาแฟที่นั่งทำงาน) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยทำให้เราได้เห็นมุมมองที่เราไม่เคยเห็น ที่จะเอามาต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ต่อไป

1.3. ฝึกเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

มีคำกล่าวว่า การคิดสร้างสรรค์ นั้นเหมือนกล้ามเนื้อของร่างกายเรานี่ล่ะ ที่เรียกว่า Creative Muscel หากไม่ฝึกฝนบ่อย ๆ นานไปก็จะอ่อนแรง และก็มีประสิทธิภาพน้อยลงทุกวัน ฉะนั้นเมื่อเรามีวัตถุดิบแล้ว สิ่งที่ต้องฝึกก็คือ การพยายามการเชื่อมโยงวัตถุดิบที่เรามี เข้ากับสิ่งที่เราเจอในชีวิตประจำวันเข้าด้วยกัน

การต่อยอดมุกคนอื่นก็ถือเป็นการฝึกฝนการคิด แรกๆ อาจจะแป้กบ้าง แต่เล่นไปเรื่อยๆ รับรองว่าต้องมีมุกที่เข้าท่าที่คนขำกันทั้งออฟฟิศออกมาได้แน่นอน

2. ทักษะการช่างสังเกต Curiosity

“I have no special talents. I am only passionately curious.” —Albert Einstein

การช่างสังเกตรายละเอียดนี้ถือเป็นความสามารถอย่างหนึ่งที่สำคัญ เพราะหากเราไม่รู้ว่าของเดิมที่มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร เราจะไปออกแบบหรือทำของชิ้นใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร?

การเป็นคนช่างสังเกตจะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ เจอข้อมูล และคิดไอเดียใหม่ๆ ได้มากขึ้นอีก ด้วยตัวอย่างไอเดียในการช่วยให้เราเป็นคนช่างสังเกตขึ้นกว่าเดิม

2.1. หยุด แล้วสังเกตสิ่งรอบๆ อย่างตั้งใจ

ในทุกวัน ลองหยุดจ้องโทรศัพท์ซัก 5 นาที แล้วมองไปรอบๆ ดูบ้าง สังเกตดูผู้คน ดูสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว วันนี้คนเขาแต่งตัวกันยังไง เขาใช้โทรศัพท์รุ่นไหนกัน ป้ายข้างทางมีอะไรสนุกๆ ให้ดูบ้าง ฯลฯ แล้วลองถามตัวเองดูว่า พฤติกรรมอะไรที่เราได้มองเห็น มีรูปแบบหรือ pattern อะไรที่น่าสนใจหรือเปล่า และทำไม หรืออะไร ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น

2.2. ฝึกจับแพะชนแกะ

ลองเอาของที่อยู่รอบตัวของเรา 2 สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน (เช่น แก้วน้ำ + ลำโพง) แล้วมาคิดต่อยอดว่า ถ้าสองสิ่งนี้รวมกันมันจะเกิดเป็นอะไรได้บ้าง? ที่สำคัญ อย่าเพิ่งใช้เหตุผลมากนัก เป้าหมายของแบบฝึกหัดนี้ก็คือ “การฝึกคิดไอเดีย” ไม่ใช่การหาไอเดียที่ทำได้จริงซักหน่อย ฉะนั้นจะมีไอเดียอะไรแปลกประหลาดเล็ดลอดออกมาก็ถือว่าเป็นเรื่องดี

2.3. ฝึกตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว

ในแต่ละวัน ลองหาไอเดีย สิ่งของ หนังสือ หรืออะไรก็ได้ ที่เราคิดว่าน่าสนใจ หรืออยู่รอบตัว แล้วเอามาลองตั้งคำถามเพื่อเรียนรู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของสิ่งเหล่านั้น

ตัวอย่างคำถามที่ถามก็เช่น เราอาจจะไปเจอของชิ้นนึงใน Kickstarter ที่สามารถระดมทุนได้จำนวนมาก ก็ลองตั้งคำถามดูว่า

  • ทำไมของชิ้นนี้ถึงขายดี
  • เขาตั้งใจขายอะไร
  • กลุ่มเป้าหมายคือใคร
  • ทำไมถึงใช้ภาษาในการสื่อสารแบบนี้
  • ของถูกทำขึ้นมาได้อย่างไร
  • คนคิดเป็นใคร เขาเป็นคนแบบไหน
  • อะไรคือเบื้องหลังหรือแรงบันดาลใจทำให้เขาสร้างสิ่งนี้ขึ้นมา
  • ฯลฯ

3. ทักษะกระบวนคิดแบบนักออกแบบ Design Thinking

การออกแบบ คือการแก้ปัญหา หาใช่การทำของสวย ๆ งาม ๆ เพียงอย่างเดียว ฉะนั้นเมื่อเป็นการแก้ปัญา การออกแบบจึงไม่ต่างจากการทำงานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีขั้นตอนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

กระบวนการออกแบบ (Design Process) นั้น โดยทั่วไปแล้วเราจะสามารถแบ่งกระบวนนี้ออกได้เป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

3.1. Collect Data / Research

เป็นขั้นตอนที่ทำการเก็บข้อมูล จากโจทย์ที่มี วิธีการก็เช่น การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย การสังเกต การศึกษาจากงานวิจัยหรือข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น

3.2. Define / Analyse

คือการนำเอาข้อมูลที่เก็บได้ มาแบ่งเป็นหมวดเป็นหมู่ ได้มาคิด วิเคราะห์ หาความเชื่อมโยงของชุดข้อมูล เพื่อหา insight

3.3. Brainstorm / Ideate

การนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาคิดออกแตกออกเป็นไอเดีย สิ่งสำคัญของขึ้นตอนนี้คือให้เน้นปริมาณเอาไว้ก่อน แล้วค่อยมาเลือกทีหลัง หากคิดไปเลือกไป จะทำให้เราสร้างไอเดียขึ้นมาได้น้อย เพราะจะมองเห็นแต่ข้อจำกัดเต็มไปหมด

3.4. Develop / Prototype

เป็นการนำไอเดียมาพัฒนาต่อ วิธีการพัฒนาในที่นี้คือการนำมาทดลองสร้างออกมาเป็นต้นแบบ (Prototype) ซึ่งต้นแบบในครั้งแรกๆ ควรจะยังไม่ต้องสวยงาม สิ่งสำคัญคือต้องเน้นสร้างให้เร็วเพื่อนำไปทดสอบไอเดียในขั้นตอนต่อไป

3.5. Test & Iteration

จะรู้ได้อย่างไรว่าไอเดียที่เราคิดเราทำนั้นใช้ได้ไหม? คำตอบก็คือต้องเอาไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นต้นแบบนั้นออกไปทดสอบหรือขอความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายจริง เมื่อได้ feedback มาแล้ว ก็เอากลับมาพัฒนาต่อ

หากทักษะการคิดสร้างสรรค์ และการสังเกต ใน 2 ข้อแรกนั้นช่วยให้คุณตีฟองเกิดไอเดียได้อย่างหลากหลาย ทักษะการคิดแบบนักออกแบบ (design thinking) นี้ก็จะช่วยให้คุณคิดต่อยอดได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

จะเห็นว่ากระบวนการออกแบบนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ค่อนข้างจะตรงไปตรงมา ซึ่งหากทำการกระบวนนี้ จะช่วยทำให้เราสามารถคิดและเข้าใจงานออกแบบ สามารถให้ comment งานออกแบบได้ดีขึ้น แทนที่จะคุยกันถึงแต่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว

สรุป

ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร ทักษะการคิดแบบนักออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดแบบกระบวนการออกแบบ ทักษะความช่างสังเกตนั้นมีประโยชน์และช่วยส่งเสริมการทำงานให้กับคุณอย่างแน่นอน

ที่สำคัญทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่เราสามารถเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาได้ แถมยังเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ วินาทีนี้เลยทีเดียว วันนี้มาลองสวมหมวกความคิดแบบนักออกแบบกันซักวันนะคะ

ภาพประกอบจาก :  Amaury Salas on Unsplash

ลินดา ไกรวณิช

บทความโดย: คุณลินดา ไกรวณิช (bowkraivanich.com)
Managing Partner & Design Director at Magnetolabs Co., Ltd. & ContentShifu.com

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

Related Articles

ทำไมน้ำยาบ้วนปากต้องมีสี? สีมีผลอย่างไรต่อการทำความสะอาดช่องปาก?

หลายข้อสงสัยเกี่ยวกับ “สี” ที่นำมาใช้กับสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เราเห็นกันอยู่ทุกวัน เช่น ทำไมชุดผ่าตัดต้องเป็นสีเขียว? หรือ ทำไมไฟจราจรต้องใช้แค่ 3 สี แดง…

Creative/Design | Design You Don't See | Podcast

Do and Don’t การตลาดในช่วงวิกฤต COVID-19

ช่วงนี้หนักหนาสาหัสกันทุกภาคส่วนนะครับ นักการตลาดเองก็ต้องปรับแผนกันยกใหญ่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่คำถามคือ ในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ อะไรควรทำและไม่ควรทำบ้าง เมื่อทุกข้อความที่ถูกสื่อสารออกไปจะมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปอีกในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ จากข้อมูลของ Facebook Webinar “Fighting…

Article | Digital marketing
facilisis Nullam Donec eleifend nec at lectus Curabitur venenatis libero Praesent